สายตาช่วงอายุระหว่าง 3-10 ปี[AT021]

สายตาช่วงอายุระหว่าง 3-10 ปี

เด็กวัยนี้เป็นวัยที่เด็กเริ่มต้องเข้าโรงเรียน สิ่งสำคัญสองอย่างของเด็กวัยนี้คือ การดูแลให้เด็กสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน และการปกป้องดวงตาของพวกเขาจากอันตรายต่างๆรอบตัว

เด็กควรมองเห็นได้อย่างชัดเจนเพื่ออนาคตที่สดใสของพวกเขา    มีสิ่งที่เด็กต้องเรียนรู้มากมายรออยู่ที่โรงเรียน และการเรียนรู้กว่า 80% เกิดจากการมองเห็น ดังนั้นการมองเห็นได้อย่างชัดเจนจึงเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่เด็กทุกคนในวัยนี้ต้องการ การมองเห็นไม่ชัดเจนอาจสร้างปัญหาแก่เด็กได้หลายอย่างเช่น

ผลการเรียนไม่ดี: การมองเห็นไม่ชัดเจน ส่งผลโดยตรงกับผลการเรียนของเด็ก เช่น ถ้าเด็กสายตาสั้น จะไม่สามารถมองสิ่งที่อยู่ระยะไกลได้อย่างชัดเจน ทำให้เกิดความไม่เข้าใจที่ครูสอนแม้เป็นสิ่งง่ายๆ

ขาดความตั้งใจเรียน: เมื่อเด็กมองเห็นไม่ชัดแล้ว เด็กอาจขาดความสนใจสิ่งที่ครูสอน เนื่องจากครูพูดอะไร หรือให้ดูอะไรก็มองเห็นไม่ชัด ทำให้หันไปสนใจอย่างอื่นใกล้ๆตัวที่เห็นชัดเจนกว่า เช่น วาดการ์ตูน อ่านการ์ตูน หรือชวนเพื่อนคุย ฯลฯ

 

teacher1 blur

 

เด็กที่มองเห็นได้ชัดเจน(รูปซ้าย)   จะเรียนรู้ได้ดีกว่าเด็กที่มองเห็นไม่ชัด(รูปขวา)

ขาดความมั่นใจ: เด็กที่มองเห็นไม่ชัดและไม่เข้าใจในสิ่งที่ครูสอน เมื่อครูเรียกตอบคำถามเด็กอาจตอบผิด การที่เด็กตอบผิดบ่อยๆอาจส่งผลให้เด็กกลัวการตอบคำถาม กลายเป็นเด็กขาดความมั่นใจได้

ขาดความสดใสร่าเริง: เด็กอาจรู้สึกตนเองว่ามีปมด้อย ที่ไม่สามารถเห็นอย่างที่คนอื่นเห็นได้ รู้สึกว่าตนเองบกพร่องแต่ไม่กล้าบอกผู้ปกครอง เด็กอาจเก็บความรู้สึกไว้คนเดียว กลายเป็นปมด้อยได้

หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง: การมองเห็นไม่ชัดอาจเป็นข้อจำกัดในการทำกิจกรรมนอกห้องเรียนหลายอย่าง เช่น  เตะฟุตบอล โยนรับห่วงยาง เล่นโบลาเรียกชื่อ ฯลฯ การที่เด็กมองเห็นไม่ชัดเจน อาจทำให้เด็กเป็นตัวตลกของเพื่อนๆเมื่อเตะลูกฟุตบอลวืดไม่โดน รับห่วงยางหรือลูกบอลไม่ได้ ทำให้สุดท้ายเด็กไม่อยากทำกิจกรรมกลางแจ้ง และหันมาทำกิจกรรมระยะใกล้ที่ตนเองสามารถเห็นได้ชัดเจนแทน การที่เด็กหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง อาจทำให้เด็กขาดการเข้าสังคม ขาดการรู้แพ้ชนะจากการเล่นกีฬา และขาดทักษะการเคลื่อนไหวร่างกาย ฯลฯ

kidstennis blur

เด็กที่มองเห็นได้ชัดกว่า(รูปซ้าย) จะทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ดีกว่า โดยเฉพาะกีฬาที่มีความเร็วมาเกี่ยวข้อง เช่น เทนนิส ปิงปอง ฟุตบอล ฯลฯ

กลายเป็นเด็กเกเร: เด็กทุกคนต้องการเป็นที่ยอมรับจากเพื่อนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เด็กที่เรียนเก่งก็จะได้รับการชมเชยจากเพื่อนๆ เด็กที่เรียนไม่เก่งอาจเอาดีทางที่ไม่ถูกต้อง เพื่อให้เพื่อนยอมรับ เช่น เล่นเกมส์เก่ง เก่งทางด้านชกต่อย แกล้งเพื่อนเก่ง หรืออาจเอาดีทางด้านยาเสพติดถ้าสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย ฯลฯ

จะเห็นว่าเพียงการมองเห็นไม่ชัด สามารถก่อให้เกิดผลเสียตามมาอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยนี้ซึ่งเป็นวัยเริ่มต้นแห่งการเรียนรู้ ดังนั้นผู้ปกครองทุกท่านควรนำบุตรหลานไปตรวจสายตาอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละครั้งก่อนเปิดเทอม เพื่อให้แน่ใจว่า เด็กๆจะมองเห็นได้อย่างชัดเจน ท่านไม่ควรถามเด็กว่ามองเห็นชัดเจนดีหรือไม่ เนื่องจากเด็กมักตอบว่าชัดเจนดีเพราะไม่รู้ว่าตนมองเห็นไม่ชัด และคิดว่าคนอื่นก็เห็นอย่างที่ตนเห็น ถ้าเด็กคนนั้นสายตาสั้นเขาอาจไม่เคยมองเห็นวัตถุระยะไกลได้ชัด ทำให้รู้สึกว่าวัตถุระยะไกลต้องเห็นมัวๆอย่างนั้นเพราะว่ามันอยู่ไกล เด็กจะมีความคิดว่าการเห็นวัตถุที่ไกลไม่ชัด เป็นเรื่องปกติซึ่งทุกคนก็คงเห็นแบบนั้น ดังนั้น ผู้ปกครองควรนำเด็กไปตรวจสายตากับผู้เชี่ยวชาญ อย่างน้อยปีละครั้งก่อนเปิดเทอม

 

ปกป้องดวงตาของเด็กจากสิ่งแวดล้อมที่อันตราย

เด็กวัยนี้เป็นวัยที่ซุกซนและผาดโผน พวกเขาจะไม่อยู่นิ่งและมีกิจกรรมตลอดเวลา บางกิจกรรมเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงและไม่ควรทำอย่างยิ่ง แต่เด็กก็ทำเนื่องจากความอยากลองโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดวงตาของเด็กในวัยนี้จึงควรได้รับการปกป้องจากอันตรายที่อาจเกิดจากกิจกรรมต่างๆโดยการ

  1. 1.ป้องกันดวงตาจากรังสียูวี โดยการสวมแว่นกันแดด* ที่ป้องกันรังสียูวี เมื่อทำกิจกรรมกลางแจ้ง เพื่อปกป้องดวงตาที่บอบบางของเด็ก เนื่องจากเด็กมีรูม่านตาที่ใหญ่กว่าผู้ใหญ่ และมีกิจกรรมกลางแจ้งมากกว่า ทำให้ดวงตาของเด็กมีความเสี่ยงที่จะรับอันตรายจากรังสียูวีได้มากกว่าผู้ใหญ่ งานวิจัยพบว่ารังสียูวีเป็นต้นเหตุของโรคตาหลายโรคเช่น ต้อกระจก ต้อลม ต้อเนื้อ จอตาเสื่อม ฯลฯ
secg1
ดวงตาของเด็กควรได้รับการปกป้องมากกว่าผู้ใหญ่
แต่น้อยครั้งที่จะเห็นเด็กใส่แว่นตากันแดด
  1. ป้องกันดวงตาจากอุบัติเหตุ โดยการใส่แว่นตาที่เลนส์ทำจากวัสดุเหนียวพิเศษ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเป็นอันตรายกับดวงตาของเด็ก โดยอุบัติเหตุนั้นอาจเป็นกิจกรรมที่เขาทำเองหรือเด็กคนอื่นทำก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น เด็กเล่นปาดินหรือทรายใส่กัน  เล่นของมีคม เล่นหนังสติ๊กหรือปืนอัดลม เพื่อนเตะลูกบอลอัดเข้าหน้า ฯลฯ เมื่อเลนส์เหนียวพิเศษถูกแรงกระแทกจะไม่แตก ต่างจากเลนส์ปกติที่อาจแตกและกระเด็นเข้าตาเกิดอันตราย ในสหรัฐอเมริกามีข้อบังคับให้แว่นตาสำหรับเด็กต้องทำจากเลนส์เหนียวพิเศษเท่านั้น เพื่อป้องกันดวงตาของเด็กจากอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากเด็กเป็นวัยที่ขาดความระมัดระวังและมีอุบัติเหตุที่ทำให้เด็กตาบอดทุกปี (ในสหรัฐอเมริกา มีกฏให้ใช้เลนส์โพลีคาร์บอเนตหรือเลนส์เหนียวพิเศษ กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีทุกคนที่ใส่แว่นตา เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับดวงตา เนื่องจากเด็กมักมีกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อดวงตาได้ และร้านแว่นตาต้องรับผิดชอบ หากเกิดการบาดเจ็บทางตาขึ้นกับเด็กที่ร้านทำแว่นตาให้ โดยเลนส์นั้นไม่ใช่โพลีคาร์บอเนต)

นอกจากการมองเห็นที่ชัดเจนและการปกป้องดวงตาให้ปลอดภัยแล้ว ยังมีทักษะเกี่ยวกับการมองเห็นอื่นๆที่เด็กต้องเรียนรู้อีก เช่น การสลับมองใกล้ไกล เพื่อจดงานจากกระดานดำลงสมุด, ทักษะต่างๆที่เกี่ยวกับ Visual Information Processing ด้วย ยกตัวอย่างเช่น การทำงานประสานกันระหว่างตากับมือ(Eye-Hand Coordination) ฯลฯ

 ตารางสรุปข้อควรรู้ และสิ่งที่ควรทำในเด็ก

 

ข้อควรรู้

สิ่งที่ควรปฏิบัติ

1

การเห็นไม่ชัด ขัดขวางพัฒนาการการมองเห็นของเด็ก และถ้ายิ่งปล่อยไว้จนอายุมาก จะทำให้ไม่สามารถรักษาให้มองเห็นได้ชัดเหมือนคนทั่วไปได้(ตาขี้เกียจ)

ควรนำเด็กไปตรวจกับจักษุแพทย์หรือนักทัศนมาตรเมื่ออายุครบ 6 เดือน เพื่อคัดกรองโรคและความผิดปกติของระบบการมองเห็น ถ้าพบปัญหาจะได้ทำการรักษาอย่างทันท่วงที อนึ่งโรคตาขี้เกียจยิ่งรักษาเร็วยิ่งได้ผลการรักษาดี การรักษาจะได้ผลดีมากเมื่อเด็กอายุไม่เกิน 6 ขวบ อย่างไรก็ดีการรักษาจะทำได้จนกระทั่งอายุ 20 ปี เมื่ออายุเกินกว่านี้การรักษามักได้ผลน้อยหรือไม่ได้ผลเลย

2

ดวงตาเด็ก มีความบอบบางต่อรังสี UV

ปกป้องดวงตาจากรังสี UV โดยการใช้แว่นตากันแดดชนิดที่กันรังสี UV ได้ และใส่หมวกปีกกว้างเมื่อออกกลางแจ้ง เพื่อป้องกันดวงตาจากรังสียูวีในแสงแดด ซึ่งเป็นสาเหตุของความผิดปกติหลายอย่างเช่น  ต้อเนื้อ ต้อลม  จอตาเสื่อมฯลฯ

3

รูม่านตาใหญ่กว่าผู้ใหญ่ ทำให้รังสี UV เข้าสู่ดวงตาเด็กในปริมาณมากกว่า

ปกป้องดวงตาจากรังสี UV โดยการใช้แว่นตากันแดดที่กันรังสี UV ได้ และใส่หมวกปีกกว้างเมื่อออกกลางแจ้ง เพื่อป้องกันอันตรายของโครงสร้างภายในดวงตาจากแสงแดด ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสื่อมก่อนวัย เช่น ต้อกระจก(Cataract)  จอตาเสื่อม (Age Related Macular Degeneration)  ฯลฯ

4

วัยเด็กเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ และการเรียนรู้ 80% มาจากการมองเห็น

พาบุตรหลานไปตรวจวัดสายตากับผู้เชี่ยวชาญอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อแก้ไขปัญหาสายตา การมองเห็นได้อย่างชัดเจนทำให้โลกของเขาสดใส  การเรียนรู้ไม่ถูกจำกัด

ข้อสังเกตต่างๆเกี่ยวกับสายตาและสุขภาพตาของเด็ก

พัฒนาการของระบบการมองเห็นที่ดีได้ ต้องประกอบด้วยสุขภาพตาที่ดีและสายตาดี เด็กในวัยนี้ไม่สามารถบอกได้ว่าเขามีความผิดปกติอย่างไร ดังนั้นครูและผู้ปกครองจึงต้องมีหน้าที่คอยสังเกตและสอบถามเด็กว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ ข้อสังเกตต่างๆเช่น

ปัญหาสายตา สิ่งต่างๆต่อไปนี้ อาจจะเกิดจากเด็กมีปัญหาสายตา(ควรพาไปพบผู้เชี่ยวชาญทางสายตา)

  • เด็กชอบหยีตามอง ถ้ามีปัญหาสายตา การหยีตามองจะช่วยทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น
  • อ่านหนังสือไม่ออก เรียนหนังสือได้ช้า อาจเกิดเนื่องจากเรียนตามเพื่อนไม่ทัน มองเห็นกระดานดำไม่ชัด
  • ชอบเดินชนสิ่งของ หรือหาของไม่ค่อยเจอ อาจเกิดจากมีปัญหาสายตามาก หรือลานสายตาบางส่วนชำรุด
  • ไม่สนใจเรียน ไม่มองกระดานดำ เนื่องจากมองเห็นไม่ชัดเจน
  • ไม่ชอบทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น เตะฟุตบอล วิ่งไล่จับ ชอบทำกิจกรรมใกล้ๆตัวเช่นเล่นตุ๊กตา เล่นหุ่นยนต์ เนื่องจากมองไกลได้ไม่ชัด
  • ชอบดูของเพื่อนเวลาจดงานบนกระดานดำ ฯลฯ

ปัญหาสุขภาพตา อาจทำให้เด็กมีอาการหรือการแสดงออกดังนี้(ควรพาไปพบจักษุแพทย์)

  • กลางตาดำเด็กมีสีขาว อาจเป็นสิ่งบ่งบอกถึงมะเร็งประสาทตา  (Retinoblastoma) หรือต้อกระจกในเด็ก(Cataract) ได้
  • น้ำตาไหลตลอดเวลา อาจเป็นข้างเดียวหรือสองข้าง อาจเกิดจากท่อน้ำตาอุดตัน หรือการระคายเคือง
  • ตาแดง อาจมีหรือไม่มีขี้ตา อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย(ขี้ตาสีเขียว) เชื้อไวรัส การระคายเคือง
  • คันตาหรือขยี้ตามาก อาจเกิดจากการระคายเคืองตา การแพ้สารบางชนิด หรือมีวัสดุแปลกปลอมเข้าตา
  • ตาเหล่ ตาสองข้างไม่มองไปในทิศทางเดียวกัน ตาเหล่บางครั้งอาจเป็นๆหายๆ หรือมีการสลับข้างเหล่ได้ ไม่จำเป็นต้องเหล่ตลอดเวลา
  • ตะแคงหน้ามอง หรือหันข้างมอง อาจเกิดจากปัญหากล้ามเนื้อตา หรือการกดการทำงานของตาข้างใดข้างหนึ่ง
  • ตาดำสองข้างโตไม่เท่ากัน หนังตาตก ตาสั่น ตาบวม ฯลฯ

นอกจากอาการข้างต้น ยังมีความผิดปกติของการมองเห็นอีกหลายอย่างที่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยต้องใช้เครื่องมือและความเชี่ยวชาญในการตรวจวินิจฉัย ดังนั้น แม้บุตรหลานของท่านไม่มีอาการดังกล่าวในข้างต้น ก็ควรนำเด็กไปตรวจตากับผู้เชี่ยวชาญ เริ่มครั้งแรกเมื่อเด็กอายุครบ 6 เดือน และควรนำเด็กไปตรวจซ้ำทุกปี ถ้าดวงตาหรือการมองเห็นผิดปกติ จะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที

ตาขี้เกียจ รอจนโตอาจสายเกินแก้ไข

พัฒนาการของระบบการมองเห็นจะเป็นไปอย่างสมบูรณ์ได้นั้น  จอตาของเด็กต้องถูกกระตุ้นด้วยภาพที่คมชัด ดังนั้น สิ่งต่างๆที่ทำให้ภาพที่เข้าสู่จอตาไม่คมชัด จะทำให้พัฒนาการของระบบการมองเห็นเกิดขึ้นได้ไม่ดี ตัวอย่างภาวะที่ทำให้ภาพที่จอตาไม่คมชัดเช่น ต้อกระจกในเด็ก(ภาพที่จอตาจะมัวคล้ายมองผ่านกระจกฝ้า) เด็กที่มีค่าสายตาสูง(ไม่ว่าจะสายตาสั้นมาก ยาวมาก หรือเอียงมาก ก็ทำให้ภาพที่จอตาไม่ชัด) ภาวะหนังตาตก ตาเหล่ตาเขฯลฯ ภาวะที่พัฒนาการของระบบการมองเห็นไม่สมบูรณ์นั้น เรียกว่า “ตาขี้เกียจ” (Lazy eye, Amblyopia) การรักษาภาวะตาขี้เกียจมักได้ผลดีเมื่อเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี(เนื่องจากสมองและระบบการมองเห็นยังมีการพัฒนาอยู่) หลังจากอายุ 6 ปีไปแล้ว การรักษาภาวะตาขี้เกียจอาจได้ผลดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับตัวเด็ก และเมื่ออายุเกิน 15 ปีไปแล้ว การรักษาตาขี้เกียจมักได้ผลไม่ดี ดังนั้น ผู้ปกครองควรนำบุตรหลานมาตรวจระบบการมองเห็นอย่างช้าที่สุด ตั้งแต่อายุ 3 ปี เพื่อการมองเห็นที่ดีในอนาคตของพวกเขา

ในประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นสหรัฐอเมริกา รัฐบาลให้ความสำคัญกับการมองเห็นของเด็กมาก เห็นได้จากมีโครงการต่างๆมากมายเพื่อดูแลดวงตาอันมีค่าของเด็กและทารก ตัวอย่างเช่น ผู้ปกครองสามารถนำทารกอายุไม่เกิน 1 ปี เข้ารับการตรวจตาฟรีกับโครงการ InfantSee ซึ่งจัดโดย American Optometric Association(AOA)  (www.infantsee.org)  รวมถึงมาตรฐานการทำแว่นตาให้เด็ก ระบุว่าเลนส์แว่นตาของเด็กและทารก จะต้องทำจากวัสดุเหนียวเพื่อป้องกันดวงตาจากอุบัติเหตุที่อาจทำให้เลนส์แว่นตาแตกและทำอันตรายกับดวงตา เนื่องจากเด็กหรือทารกมักขาดความระวังรวมทั้งมีกิจกรรมต่างๆที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อดวงตาได้ หลายๆครั้ง เด็กได้รับอุบัติเหตุทางตาจากการโดนลูกหลงจากกิจกรรมของเด็กคนอื่น เช่น เด็กคนอื่นปาหิน เล่นหนังสติ๊กหรือปืนอัดลม เป็นต้น

ประเทศที่พัฒนาแล้วมีนโยบายรัฐที่ให้ความสำคัญต่อสุขภาพตาและการมองเห็นของเด็กเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีความเชื่อว่า การมองเห็นที่ดีมีผลอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กซึ่งเป็นอนาคตของชาติ และการลงทุนเพื่อทำให้เด็กมีสุขภาพตาและการมองเห็นที่ดีเป็นสิ่งที่คุ้มค่าอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนอย่างอื่นใน

การพัฒนาเด็ก น่าเสียดายที่ประเทศไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับจุดนี้เท่าที่ควร จึงไม่มีโครงการที่ดูแลสุขภาพตาและสายตาเด็กอย่างเป็นรูปธรรม จากจุดนี้ผู้เขียนเห็นว่าการให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยทำให้เด็กอย่างน้อยส่วนหนึ่งได้รับการเอาใจใส่ต่อสุขภาพตาและการมองเห็นมากขึ้น และเชื่อว่าถ้าผู้ปกครองเด็กทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับดวงตาเด็กอย่างเพียงพอ จะทำให้เด็กอีกจำนวนหนึ่งได้รับการดูแลทางสายตาอย่างที่ควรจะเป็น เทียบเท่ากับเด็กในประเทศที่พัฒนาแล้วตาขี้เกียจทำให้ตามัว มองเห็นไม่ชัดดังคนปกติ สามารถแก้ไขได้ดีเมื่อเด็กมีอายุน้อย ยิ่งเด็กมีอายุมากขึ้นโอกาสจะรักษาให้หายเป็นปกติก็ยากขึ้น บางครั้งการรักษาจะต้องมีการปิดตาร่วมด้วย