เด็กกับการใช้คอนแทคเลนส์
น้องแนน อายุ 17 ปี มากับคุณแม่ที่ร้านเนื่องจากคุณแม่มาวัดสายตา โดยปกติน้องแนนและคุณแม่เป็นลูกค้าประจำของที่ร้านอยู่แล้ว วันนี้สังเกตเห็นน้องแนนใส่คอนแทคเลนส์เปลี่ยนสีตา โดยน้องแนนเห็นเพื่อนใส่แล้วสวยดี จึงทดลองซื้อมาใส่บ้าง เมื่อสอบถามถึงความสบายตา น้องแนนบอกว่าใส่แล้วเคืองตาพอสมควรในวันแรกๆ และขณะนี้ก็ยังเคืองอยู่แต่น้อยลง โดยน้องแนนใส่คอนแทคเลนส์สีมาได้ 3 เดือนแล้ว ทางร้านจึงขอตรวจตาดู
จากการตรวจตาโดย Slit Lamp ปรากฏว่าคอนแทคเลนส์มีลักษณะหลวมเกินไป เมื่อกระพริบตาแล้วมีการเคลื่อนที่ของคอนแทคเลนส์มากเกินไป ทางร้านจึงขอให้น้องแนนลองถอดคอนแทคเลนส์เพื่อตรวจกระจกตาโดยการย้อมสี Fluorescein ผลการตรวจ เห็นตาขวามีร่องรอยผิวกระจกตาถลอกเป็นวงกว้างโดยเฉพาะบริเวณขอบกระจกตาด้านบน ส่วนตาซ้ายมีรอยถลอกเหมือนกันแต่น้อยกว่า จึงแนะนำให้น้องแนนหยุดใช้คอนแทคเลนส์ชั่วคราว ให้กลับมาที่ร้าน 1 สัปดาห์หลังจากนี้ เพื่อรับการตรวจความโค้งกระจกตาและประกอบคอนแทคเลนส์ที่เหมาะสมให้
เด็กในปัจจุบัน มีแนวโน้มใส่คอนแทคเลนส์มากขึ้นกว่าเด็กยุคก่อน เนื่องจากแฟชั่นคอนแทคเลนส์สีและคอนแทคเลนส์ตาโตเป็นที่นิยม แนะนำผู้ปกครองดังนี้
- ถ้าเด็กอยากใส่คอนแทคเลนส์ ไม่ควรห้าม แต่ควรถามถึงเหตุผลที่อยากใส่ ถ้าเห็นว่าเด็กอยากใส่จริงๆ ควรพาไปตรวจวัดสายตาและประกอบคอนแทคเลนส์ให้ถูกต้องกับนักทัศนมาตรหรือจักษุแพทย์ เพื่อให้ได้คอนแทคเลนส์ที่เหมาะกับดวงตาเด็ก รวมทั้งได้เรียนรู้การใช้งาน ใส่ ถอด ทำความสะอาด และการดูแลรักษา จากผู้เชี่ยวชาญ
- ถ้าเด็กอยากใส่คอนแทคเลนส์จริงๆแต่ผู้ปกครองห้าม เด็กอาจไปแอบซื้อและทดลองใส่เองอย่างผิดๆถูกๆ หรืออาจขอยืมของเพื่อนเพื่อทดลองใส่ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาตามมาเช่น ได้คอนแทคเลนส์ไม่เหมาะกับดวงตา วิธีการใส่ถอดไม่ถูกต้องทำให้เกิดแผลถลอกที่ดวงตาและตาอักเสบติดเชื้อตามมา ขอยืมเพื่อนใส่ทำให้เสี่ยงต่อโรคติดต่อต่างๆ เป็นต้น
- อายุไม่เป็นอุปสรรคในการใช้คอนแทคเลนส์ คอนแทคเลนส์สามารถใช้ได้กับคนทุกช่วงอายุตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนกระทั่งถึงวัยชรา 80-90 ปี สำหรับเด็กเล็กที่จำเป็นต้องใส่คอนแทคเลนส์ผู้ปกครองสามารถช่วยถอด ใส่ ทำความสะอาด จนกระทั่งเด็กสามารถช่วยเหลือตนเองได้ ในต่างประเทศ เด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบส่วนใหญ่ ที่มีวินัยและมีความรับผิดชอบ สามารถใช้งาน ถอด ใส่ ทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ได้เอง ภายใต้การดูแลของผู้ใหญ่
- รูป เด็กที่เป็นต้อกระจกโดยกำเนิด ต้องได้รับการผ่าต้อกระจกออกโดยเร็วที่สุดเพื่อป้องกันการเกิดตาขี้เกียจ หลังผ่าตัดต้องใส่แว่นตาหนาดังรูป หรือคอนแทคเลนส์ เพื่อทำให้เด็กมองเห็นชัด
ในปัจจุบันคอนแทคเลนส์ทุกชนิดรวมทั้งคอนแทคเลนส์สีหรือคอนแทคเลนส์ตาโต ถูกจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ควบคุม คอนแทคเลนส์ที่ขายอย่างถูกกฏหมาย ต้องผ่านการรับรองจากกองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) สามารถตรวจสอบยี่ห้อและรุ่นของคอนแทคเลนส์ที่ได้รับการรับรองจากลิ้งข้างล่าง
http://www.fda.moph.go.th/fda-net/html/product/mdcd/thai/name_im_contact_active.pdf
นอกจากคอนแทคเลนส์ที่ได้มาตรฐานแล้ว การเลือกใช้คอนแทคเลนส์ที่เหมาะสมกับดวงตา ร่วมกับการถอด ใส่ ทำความสะอาดอย่างถูกวิธีก็เป็นสิ่งสำคัญ ตามความเห็นของผู้เขียน คิดว่าน่าจะสำคัญที่สุดในการใส่คอนแทคเลนส์อย่างปลอดภัย เนื่องจากการสอบถามผู้ป่วยกระจกตาติดเชื้อจากการใส่คอนแทคเลนส์ พบว่าสาเหตุการเกิดกระจกตาติดเชื้อ ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากการใช้คอนแทคเลนส์ที่ไม่ได้มาตรฐาน แต่เกิดจาก
- การถอดใส่อย่างไม่ถูกต้อง บางคนตาอักเสบก่อนได้ใส่คอนแทคเลนส์เสียอีก สาเหตุเนื่องจากอยากใส่คอนแทคเลนส์ จึงไปซื้อจากร้านแผงลอยที่ไม่ได้แนะนำการถอดใส่อย่างถูกต้อง นำเลนส์มานั่งใส่เองแบบผิดๆจนกระทั่งกระจกตาถลอก เกิดกระจกตาติดเชื้อตามมา
- การใช้งานไม่ถูกต้อง ใส่คอนแทคเลนส์นอนโดยที่คอนแทคเลนส์นั้นห้ามใส่นอน
- การไม่มีความรู้ ไม่ทราบว่าอาการอย่างไรเป็นอาการที่ควรระวัง ต้องไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วน (เพิ่มลิ้ง)
กฏหมายควรรู้เกี่ยวกับคอนแทคเลนส์
- ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบคอนแทคเลนส์อย่างถูกต้องตามกฏหมาย คือจักษุแพทย์และนักทัศนมาตร
- ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ถ้าต้องการใส่คอนแทคเลนส์ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อน ดังนั้น การขายคอนแทคเลนส์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง ถือว่ามีความผิด
คำแนะนำในการใช้คอนแทคเลนส์
- การใส่คอนแทคเลนส์ครั้งแรก ควรให้จักษุแพทย์หรือนักทัศนมาตรทำการประกอบให้ เพื่อให้ได้คอนแทคเลนส์ที่เหมาะสมกับความโค้งกระจกตา ค่าสายตา และลักษณะการใช้งานสายตา ฯลฯ ของผู้ใส่อย่างแท้จริง และไม่ควรเปลี่ยนรุ่นคอนแทคเลนส์ด้วยตนเอง
- คนบางกลุ่ม อาจไม่เหมาะสำหรับการใส่คอนแทคเลนส์ ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ไม่สามารถดูแลความสะอาดได้ดี ผู้ที่แพ้ง่ายโดยเฉพาะที่ตา ผู้เป็นโรคบางโรคเช่นเบาหวาน หรือโรคที่ทำให้เกิดตาแห้งรุนแรง ผู้ที่เคยติดเชื้อที่กระจกตา ผู้ที่ต้องอยู่ในสภาวะที่ไม่เหมาะสมเช่น สกปรก มีฝุ่นมาก ไอหรือละอองน้ำมาก ผู้ที่มีน้ำตาน้อย ฯลฯ
- กรณีที่ใช้คอนแทคเลนส์แบบใช้ซ้ำได้ ควรทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ และตลับแช่เลนส์อย่างสม่ำเสมอ การใช้อย่างถูกวิธีและทำความสะอาดคอนแทคเลนส์อย่างถูกต้องจะทำให้มีความเสี่ยงน้อยมากที่จะเกิดกระจกตาติดเชื้อ
- ห้ามใช้ยาหยอดตา(ยกเว้นน้ำตาเทียม)ขณะใส่คอนแทคเลนส์ ยกเว้นได้รับคำแนะนำจากแพทย์ให้ใช้ได้
- ห้ามใช้คอนแทคเลนส์ร่วมกับผู้อื่น
- ควรถูคอนแทคเลนส์ทุกครั้งที่ล้าง ไม่ควรใช้คอนแทคเลนส์เกินอายุที่กำหนดไว้ และไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์นอน
- ถ้าใส่คอนแทคเลนส์แล้วรู้สึกเคืองตา ให้ถอดออกมาล้างแล้วใส่ใหม่ ถ้าใส่เข้าไปแล้วยังเคืองตาอีกให้ลองเปลี่ยนคู่ใหม่ ถ้าใส่คู่ใหม่แล้วยังเคืองตาอยู่ ให้หยุดใส่คอนแทคเลนส์ชั่วคราวและสังเกตอาการ ถ้าอาการเคืองตาไม่ดีขึ้นหลังจากถอดไปแล้ว 1 ชั่วโมง ให้ไปพบจักษุแพทย์โดยด่วน อนึ่ง การติดเชื้อที่กระจกตา เชื้อบางชนิดมีความรุนแรงและสามารถทำให้กระจกตาทะลุภายใน 24 ชั่วโมง
- ผู้ใส่คอนแทคเลนส์ควรได้รับการตรวจสุขภาพตาอย่างน้อยปีละครั้ง