คอนแทคเลนส์หลังการผ่าตัดแก้ไขสายตาเช่น เลสิก PRK[AT083]

การแก้ไขสายตาด้วยวิธีการผ่าตัดเช่น เลสิก PRK CK ฯลฯ ส่วนใหญ่จะได้ผลการรักษาที่ดี อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งพบว่าหลังการผ่าตัดแก้ไขสายตา คนไข้กลับมีอาการตามัว(ซึ่งพบเป็นส่วนน้อย) โดยอาการตามัว อาจเกิดจากสาเหตุเช่น

  • ยังมีค่าสายตาหลงเหลืออยู่ ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่แล้วแต่ความเหมาะสม
  • การรักษาแผลที่ผิดปกติของคนไข้ ตัวอย่างเช่นเมื่อถูกมีดบาด บางคนเมื่อแผลหายแล้วผิวเรียบสนิท แต่บางคนกลับเกิดแผลเป็นนูนที่เรียกกันว่าคีลอยด์ Keloid ขึ้นมา การรักษาแผลของกระจกตาก็เช่นเดียวกัน  โดยผู้ที่มีการรักษาแผลที่ไม่ดี หลังแผลหายอาจทำให้กระจกตาไม่เรียบ ส่งผลให้การมองเห็นไม่คมชัดเต็มที่แม้ไม่มีค่าสายตาหลงเหลือแล้วก็ตาม ซึ่งในกรณีหลังแพทย์อาจพิจารณาไม่ทำการผ่าตัดแก้ไขเพิ่มเติม เนื่องจากการผ่าซ้ำที่เดิมอาจทำให้รอยแผลเป็นกลับแย่ลงก็ได้จากการรักษาแผลที่ผิดปกติของคนไข้
  • เกิดกระจกตาปูดหลังจากการผ่าตัด(Corneal Ectasia) เนื่องจากกระจกตาที่เหลืออยู่ไม่แข็งแรงพอที่จะต้านทานความดันลูกตาได้ ซึ่งกระจกตาปูดดังกล่าวอาจเกิดทันทีหลังจากการผ่าตัด หรือเกิดหลังจากการผ่าตัดไปแล้วหลายปีก็ได้
  • กระจกตาขึ้นฝ้า (Corneal Haze) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาของร่างกาย ทำให้กระจกตามีความขุ่นอยู่ในเนื้อกระจกตา แต่โดยมากเมื่อเวลาผ่านไป Haze จะค่อยๆลดลงได้เอง

 

คนไข้ส่วนใหญ่ที่ตามัวหลังจากการทำเลสิกมักจะไม่มีปัญหากับการดำรงชีวิตเนื่องจากส่วนใหญ่ตาจะมัวลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อย่างไรก็ดี ถ้าคนไข้มีปัญหากับการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนไข้ต้องใช้สายตาดูสิ่งเล็กๆละเอียดๆให้คมชัด สามารถใช้คอนแทคเลนส์เฉพาะบุคคลแก้ไขทั้งค่าสายตาที่หลงเหลือและความไม่เรียบของกระจกตา ทำให้สามารถใช้สายตาได้อย่างชัดเจนได้ (ยกเว้นถ้าความมัวเกิดจากกระจกตาขึ้นฝ้า (Corneal Haze) จะไม่สามารถแก้ไขด้วยคอนแทคเลนส์ได้) โดยการแก้ไขด้วยคอนแทคเลนส์เฉพาะบุคคลขึ้นกับความเหมาะสมของแต่ละกรณี ดังนี้

  • คอนแทคเลนส์ส่วนใหญ่ต้องเป็นชนิดสั่งตัดเฉพาะ เนื่องจากกระจกตาของผู้ที่ผ่านการผ่าตัดแก้ไขสายตาที่กระจกตา มีความแตกต่างจากคนทั่วไปคือ ถ้าผ่านการแก้ไขสายตาสั้นมาบริเวณกลางกระจกตาจะแบน ดังนั้นจึงควรใช้คอนแทคเลนส์ที่ออกแบบผิวหลังแบบ Reverse Geometry เพื่อให้คอนแทคเลนส์แนบสนิทพอดีกับกระจกตา ซึ่งคอนแทคเลนส์ดังกล่าวมีให้เลือกใช้ทั้งแบบนิ่ม และกึ่งนิ่มกึ่งแข็ง
  • พิจารณาอาการของคนไข้ร่วมด้วยเช่น ถ้าคนไข้มีอาการตาแห้งร่วมด้วยมักต้องใช้คอนแทคเลนส์ชนิดกึ่งนิ่มกึ่งแข็ง เนื่องจากคอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มทำให้ตาแห้งมากขึ้น
  • ถ้าคนไข้จำเป็นต้องใช้คอนแทคเลนส์ชนิดกึ่งนิ่มกึ่งแข็ง แต่มีอาการเคืองตามากจากการใส่คอนแทคเลนส์ดังกล่าว สามารถใช้คอนแทคเลนส์ใหญ่ (Scleral Lens) หรือคอนแทคเลนส์ชนิดลูกผสม(ตรงกลางทำจากวัสดุชนิดกึ่งนิ่มกึ่งแข็ง บริเวณขอบทำจากวัสดุที่ใช้ทำคอนแทคเลนส์นิ่ม) เพื่อลดการระคายเคืองตาได้

การใช้คอนแทคเลนส์นิ่มทั่วๆไป อาจทำให้การมองเห็นชัดเจนขึ้นบ้าง แต่อาจมีปัญหาการมองเห็นแบบเดี๋ยวชัดเดี๋ยวมัว เนื่องจากกระจกตาที่แบนทำให้มีช่องว่างระหว่างกระจกตากับผิวด้านหลังคอนแทคเลนส์ ทำให้ระหว่างกระพริบตา คอนแทคเลนส์ถูกเปลือกตากดทำให้ยุบลงไปติดกับกระจกตา และหลังกระพริบตาคอนแทคเลนส์จะคืนตัวกลับมาใหม่อีกครั้ง การที่คอนแทคเลนส์ถูกกดเดี๋ยวยุบเดี๋ยวพองทำให้การมองเห็นเป็นแบบเดี๋ยวมัวเดี๋ยวชัดได้ ดังรูป(รอ Insert รูป)