สายตาช่วงอายุระหว่าง แรกเกิด-3 ปี
สำหรับทารก ดวงตาถือเป็นสิ่งสำคัญที่เชื่อมโยงทารกกับโลกรอบๆตัว เนื่องจากทุกอย่างรอบตัวทารกคือสิ่งใหม่ ดังนั้นเด็กน้อยจึงต้องเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง การเรียนรู้ทางการมองเห็นเป็นสัดส่วนสูงถึง 80% เมื่อเทียบกับการเรียนรู้จากประสาทสัมผัสอื่นคือ จากการได้ยิน การได้กลิ่น การรับรู้รส การสัมผัส (www.VisionAndLearning.org) ดังนั้น เด็กที่มีปัญหาในการมองเห็น จะส่งผลให้การเรียนรู้ถูกจำกัด ทำให้พัฒนาการไม่ดีเท่าที่ควร เราจึงควรแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เร็วที่สุด เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่สมวัย อนึ่ง พัฒนาการที่ล่าช้าจะเป็นสาเหตุของปัญหามากมายในอนาคตเช่น อาจให้เด็กขาดความมั่นใจ เป็นเด็กที่มีปมด้อยและมีปัญหาได้
โมบายของเล่นสีสดใส ช่วยกระตุ้นการมองเห็นได้ดี
ทารกแรกเกิด มีการมองเห็นที่ยังไม่ดีเท่ากับผู้ใหญ่ โดยทารกจะมีพัฒนาการทางการมองเห็นดีขึ้นเรื่อยๆ พัฒนาการจะเป็นไปอย่างรวดเร็วในช่วงปีแรก และหลังจากนั้นการมองเห็นจะดีขึ้นอย่างช้าๆจนกระทั่งเห็นได้ดีเทียบเท่าผู้ใหญ่เมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น โดยลำดับขั้นพัฒนาการทางการมองเห็นเป็นดังนี้
อายุ |
พัฒนาการ |
สิ่งที่ทารกสามารถมองเห็น/ทำได้ |
แรกเกิด |
VA 20/200 |
นิ้วมือของตัวเอง รอยยิ้ม ดวงตา จมูกของแม่ โมบายอันใหญ่ที่แขวนบนเตียง |
2 สัปดาห์ |
เห็นสีที่แตกต่างได้ |
แยกความแตกต่างของสีแดงและเขียว ที่มีความสว่าง(Brightness) เท่ากันได้(UC Berkeley) |
1 เดือน |
VA 20/120 |
เริ่มเห็นรายละเอียดมากขึ้น สามารถมองเห็นเมล็ดข้าวที่ติดบนหน้าแม่ได้ |
3 เดือน |
ตาสองข้างเริ่มทำงานประสานกันได้ดี |
-บังคับตาทั้งสองข้างให้มองไปในทิศทางของวัตถุที่สนใจได้แม่นยำขึ้น -กลอกตามองตาม(pursuit) วัตถุที่เคลื่อนที่อย่างช้าๆได้ |
4 เดือน |
VA 20/60 |
สามารถมองเห็นมด หรือแมลงตัวเล็กๆได้ |
5 เดือน |
รับรู้มิติได้(Stereopsis) |
-มี Stereopsis ซึ่งเป็นระบบการรับรู้สูงสุด(Third Degree of Fusion) ของการมองสองตา(Binocular Vision) ทำให้รับรู้ถึงความใกล้-ไกล ตื้น-ลึก ของวัตถุได้ -แยกแยะหน้าคนที่รู้จัก ออกจากคนที่ไม่รู้จักได้(ทำให้ลูกเริ่มติดคนเลี้ยง และร้องไห้เมื่อถูกคนที่ไม่คุ้นเคยอุ้ม) |
8 เดือน |
20/30 |
-มดเดินบนมือตัวเอง เห็นได้ใกล้เคียงกับที่ผู้ใหญ่เห็น(ผู้ใหญ่ มี VA 20/20 คือเห็นได้ละเอียดกว่าเด็กวัยนี้ 1.5 เท่า) -แยกแยะสีเทาที่มี Contrast ต่างกันเพียง 0.5% ได้ ซึ่งใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ |
10-12 ปี |
20/20 |
เห็นได้ชัดเจนเท่าผู้ใหญ่ |
พัฒนาการของระบบการมองเห็นจะเป็นไปอย่างสมบูรณ์ได้นั้น จอตาของทารกต้องถูกกระตุ้นด้วยภาพที่คมชัด ดังนั้น สิ่งต่างๆที่ทำให้ภาพที่เข้าสู่จอตาไม่คมชัด จะทำให้พัฒนาการของระบบการมองเห็นเกิดขึ้นได้ไม่ดี ตัวอย่างภาวะที่ทำให้ภาพที่จอตาไม่คมชัดเช่น ต้อกระจกในเด็ก(ภาพที่จอตาจะมัวคล้ายมองผ่านกระจกฝ้า) ทารกที่มีค่าสายตาสูง(ไม่ว่าจะสายตาสั้นมาก ยาวมาก หรือเอียงมาก ก็ทำให้ภาพที่จอตาไม่ชัด) ภาวะหนังตาตก ฯลฯ
ภาวะที่พัฒนาการของระบบการมองเห็นไม่สมบูรณ์นั้น เรียกว่า “ตาขี้เกียจ” (Lazy eye, Amblyopia) การรักษาภาวะตาขี้เกียจมักได้ผลดีเมื่อเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี(เนื่องจากสมองและระบบการมองเห็นยังมีการพัฒนาอยู่) หลังจากอายุ 6 ปีไปแล้ว การรักษาภาวะตาขี้เกียจอาจได้ผลดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับตัวเด็ก และเมื่ออายุเกิน 15 ปีไปแล้ว การรักษาตาขี้เกียจมักได้ผลไม่ดี ดังนั้น ผู้ปกครองควรนำบุตรหลานมาตรวจระบบการมองเห็นตั้งแต่อายุ 3 ปี เพื่อการมองเห็นที่ดีในอนาคตของพวกเขา
ในประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นสหรัฐอเมริกา รัฐบาลให้ความสำคัญกับการมองเห็นของทารกมาก เห็นได้จากมีโครงการต่างๆมากมายเพื่อดูแลดวงตาอันมีค่าของเด็กและทารก ตัวอย่างเช่น ผู้ปกครองสามารถนำทารกอายุไม่เกิน 1 ปี เข้ารับการตรวจตาฟรีกับโครงการ InfantSee ซึ่งจัดโดย American Optometric Association(AOA) (www.infantsee.org) รวมถึงมาตรฐานการทำแว่นตาให้เด็ก ระบุว่าเลนส์แว่นตาของเด็กและทารก จะต้องทำจากวัสดุเหนียวเพื่อป้องกันดวงตาจากอุบัติเหตุที่อาจทำให้เลนส์แว่นตาแตกและทำอันตรายกับดวงตา เนื่องจากเด็กหรือทารกมักขาดความระวังรวมทั้งมีกิจกรรมต่างๆที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อดวงตาได้ หลายๆครั้ง เด็กได้รับอุบัติเหตุทางตาจากการโดนลูกหลงจากกิจกรรมของเด็กคนอื่น เช่น เด็กคนอื่นปาหิน เล่นหนังสติ๊กหรือปืนอัดลม เป็นต้น
ประเทศที่พัฒนาแล้วมีนโยบายรัฐที่ให้ความสำคัญต่อสุขภาพตาและการมองเห็นของเด็กเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีความเชื่อว่า การมองเห็นที่ดีมีผลอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กซึ่งเป็นอนาคตของชาติ และการลงทุนเพื่อทำให้เด็กมีสุขภาพตาและการมองเห็นที่ดีเป็นสิ่งที่คุ้มค่าอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนอย่างอื่นในการพัฒนาเด็ก น่าเสียดายที่ประเทศไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับจุดนี้เท่าที่ควร จึงไม่มีโครงการที่ดูแลสุขภาพตาและสายตาเด็กอย่างเป็นรูปธรรม จากจุดนี้ผู้เขียนเห็นว่าการให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยทำให้เด็กอย่างน้อยส่วนหนึ่งได้รับการเอาใจใส่ต่อสุขภาพตาและการมองเห็นมากขึ้น และเชื่อว่าถ้าผู้ปกครองเด็กทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับดวงตาเด็กอย่างเพียงพอ จะทำให้เด็กอีกจำนวนหนึ่งได้รับการดูแลทางสายตาอย่างที่ควรจะเป็น เทียบเท่ากับเด็กในประเทศที่พัฒนาแล้ว
สังเกตความผิดปกติทางตาของทารกด้วยตนเอง
ผู้ปกครองเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดทารกมากที่สุด โดยทารกที่มีความผิดปกติทางสายตาจะไม่สามารถบอกเราได้ว่าตาของเขาผิดปกติ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองที่ต้องคอยสังเกตความผิดปกติของการมองเห็นของพวกเขา อาการที่เราสามารถสังเกตเห็นได้ มีดังนี้
- ตาเหล่ตาเข ในทารกที่อายุน้อยกว่า 3 เดือน อาจสังเกตเห็นตาของทารกเหล่เข้าหรือเหล่ออกบ้าง ตาสองข้างทำงานไม่สอดคล้องกันบ้าง ถือเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่การทำงานประสานกันของสองตายังไม่ดีนัก แต่เมื่อทารกอายุเกิน 3 เดือนไปแล้ว ถ้ายังพบอาการตาเหล่ ตาเขอยู่ ควรนำทารกไปพบจักษุแพทย์ทันทีเพื่อรับการตรวจรักษา การรักษาตาเหล่ทำได้หลายวิธี ทั้งนี้ขึ้นกับประเภทของตาเหล่ ตาเหล่บางประเภทสามารถใช้แว่นตารักษาได้ ยกตัวอย่างเช่นตาเหล่เข้าในเนื่องจากสายตายาวสูง(Accommodative Esotropia) หรือตาเหล่เข้าในเมื่อมองใกล้เนื่องจากมี AC/A Ratio สูงเกินไป ตาเหล่บางประเภทแพทย์อาจต้องรักษาโดยการผ่าตัด เมื่อสังเกตเห็นว่าบุตรหลานเป็นตาเหล่แล้ว ควรนำเด็กไปพบจักษุแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยเร็วเนื่องจากภาวะตาเหล่ส่วนใหญ่ยิ่งรักษาเร็วเท่าไรจะยิ่งได้ผลดี การเป็นตาเหล่แล้วไม่ได้รักษาอาจทำให้เป็นตาขี้เกียจตามมาด้วย โดยถ้าเด็กเป็นตาขี้เกียจร่วมด้วย แพทย์อาจรักษาตาขี้เกียจก่อนที่จะรักษาตาเหล่ การรักษาตาขี้เกียจอาจทำโดยการให้แว่นตาหรือการปิดตาด้านดี แล้วแต่สาเหตุของตาขี้เกียจว่าเกิดจากสาเหตุอะไร อนึ่ง ถ้าปล่อยให้เด็กตาเหล่จนกระทั่งอายุมากแล้ว การรักษาจะทำได้แค่เพียงผ่าตัดเพื่อทำให้ตากลับมาตรงเท่านั้น แต่จะไม่สามารถรักษาให้กลับมามองชัดเหมือนคนปกติได้ และการทำงานประสานกันของสองตาโดยเฉพาะการมองเห็นสามมิติ(Stereopsis)จะเสียไปด้วย ดังนั้นถ้าผู้ปกครองสังเกตเห็นบุตรหลานมีอาการตาเหล่หลังจากเด็กอายุมากกว่า 3 เดือนแล้ว ให้พาเด็กไปพบจักษุแพทย์อย่างเร็วที่สุดเพื่อทำการรักษา (ตาเหล่ มีทั้งชนิดเหล่ตลอดเวลา หรือเหล่เป็นพักๆ ไม่ว่าจะเหล่แบบไหนถ้าสังเกตเห็นควรพาเด็กไปพบจักษุแพทย์เช่นเดียวกัน)
เห็นสีขาวขุ่นกลางตาดำ อาจเป็นที่ตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง สังเกตุได้ง่ายเวลาถ่ายรูปแล้วเห็นตาดำสองข้างสีต่างกัน ถ้าพบความผิดปกติดังกล่าว จะต้องนำทารกไปพบจักษุแพทย์โดยด่วนเพื่อทำการตรวจรักษา อาการดังกล่าวอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุเช่น ต้อกระจกโดยกำเนิด มะเร็งประสาทตา ฯลฯ ซึ่งยิ่งทำการรักษาเร็วเท่าไร จะยิ่งได้ผลดีเท่านั้น
ถ้าถ่ายรูปแล้วรูม่านตาของตาสองข้างมีสีต่างกันโดยมีด้านหนึ่งด้านใดเป็นสี ขาว(Leukocoria) ควรพาไปพบจักษุแพทย์โดยด่วน
โรคตาแดง ถ้าสังเกตเห็นว่าตาของทารกมีสีแดงผิดปกติ และมีขี้ตาสีเขียวหรือน้ำตาไหลมาก เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าตาของทารกอาจมีการติดเชื้อหรือระคายเคืองต่อสารบางอย่าง ควรนำทารกไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา
ตาสั่น(Nystagmus) ถ้าสังเกตเห็นว่าตาของทารกสั่นไปมาตลอดเวลาและไม่สามารถมองนิ่งๆได้โดยตาไม่สั่น ควรนำทารกไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจรักษา โดยการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่อายุยังน้อย จะให้ผลการรักษาดีที่สุด
ต้อหินแต่กำเนิด ถ้าทารกมีตาข้างหนึ่งหรือสองข้างโตผิดปกติ น้ำตาไหลมากและตาไม่สู้แสง อาจเป็นอาการของโรคต้อหินแต่กำเนิด แม้ต้อหินแต่กำเนิดเป็นโรคที่พบไม่บ่อย แต่ก็มีความรุนแรงและอาจทำให้ตาบอดได้ถ้าทำการรักษาช้า ดังนั้นถ้าสังเกตเห็นอาการดังกล่าว ให้รีบนำทารกไปพบจักษุแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาโดยด่วน
ทารกคลอดก่อนกำหนด มีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติของจอตา( Retinopathy of Prematurity) ดังนั้นควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยถ้าทารกคลอดก่อนกำหนด เพื่อจักษุแพทย์จะได้ทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด อนึ่ง ทารกคลอดก่อนกำหนดควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากจักษุแพทย์เพื่อเฝ้าระวังความผิดปกติของเส้นเลือดในลูกตา ซึ่งอาการดังกล่าวอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้ตาบอดได้
นอกจากอาการข้างต้น ยังมีความผิดปกติของการมองเห็นอีกหลายอย่างที่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยต้องใช้เครื่องมือและความเชี่ยวชาญในการตรวจวินิจฉัย ดังนั้น แม้บุตรหลานของท่านไม่มีอาการดังกล่าวในข้างต้น ก็ควรนำเด็กไปตรวจตากับผู้เชี่ยวชาญ เมื่อเด็กอายุครบ 6 เดือน และควรนำเด็กไปตรวจซ้ำทุกปี ถ้าดวงตาหรือการมองเห็นผิดปกติ จะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที