FAQ สายตายาว..???[AT015]

สายตายาวคืออะไร….???

นิยามของสายตายาวคือ “ภาวะผิดปกติของการหักเหแสง(Refractive Error)ในลูกตา ทำให้แสงมีการโฟกัสหลังจอตา(Retina)ในขณะที่ไม่มีการเพ่ง (Accommodation) ของเลนส์ตา” อธิบายให้เข้าใจง่ายคือภาวะที่แสงโฟกัสช้าเกินไปภายในลูกตา ทำให้เมื่อมองไกล แสงจะไม่โฟกัสพอดีที่จอตา ดังนั้นตาจึงต้องทำการเพ่ง (Accommodation) เพื่อเพิ่มกำลังหักเหของเลนส์ตา ทำให้เห็นภาพได้ชัดเจน อนึ่งผู้สายตายาวจะมองไกลได้ชัดเจนกว่ามองใกล้ และต้องทำการเพ่งอยู่ตลอดเวลาทั้งในการมองระยะไกลและระยะใกล้ ทำให้เกิดอาการสายตาอ่อนล้าได้ง่ายกว่าคนปกติ อนึ่งถ้ามีกำลังสายตายาวสูงมาก อาจทำให้มองเห็นไม่ชัดเจนทั้งไกลและใกล้ได้

รูปเทียบ ทางเดินแสงของสายตาปกติและสายตายาว

ทำไมคนสายตายาวจึงมองไกลชัดแต่มองใกล้ไม่ชัด……???

เมื่อมองไกล เวอร์เจนซ์ (Vergence) ของแสงจากวัตถุที่ระยะไกลจะขนานกัน เมื่อแสงเข้าสู่ดวงตาของคนสายตายาวจะเกิดการหักเหและโฟกัสหลังจอตาดังรูป 1 ทำให้มองเห็นไม่ชัดที่ระยะไกลเนื่องจากแสงไม่โฟกัสพอดีที่จอตา ดังนั้นตาจะทำการเพ่ง (Accommodation) ทำให้เลนส์ตานูนตัวขึ้นและแสงโฟกัสพอดีที่จอตา ทำให้มองเห็นชัดดังรูป 2 เมื่อมองวัตถุที่อยู่ใกล้เข้ามา เวอร์เจนซ์ของแสงจากวัตถุระยะใกล้จะถ่างออก (Divergence) ทำให้เมื่อแสงผ่านเข้าตาแล้วโฟกัสห่างจากกระจกตามากขึ้น ทำให้แสงโฟกัสเลยจอตาดังรูป 3 ดังนั้นดวงตาจึงต้องทำการเพ่งเพิ่มขึ้นอีกเพื่อให้เห็นภาพในระยะใกล้ได้ชัดเจนดังรูป 4

รูป 1

รูป 2

รูป 3

รูป 4

สายตายาวเกิดได้จากหลายปัจจัย  เช่น

  • กระจกตามีกำลังหักเหน้อยเกินไป
  • เลนส์ตามีกำลังหักน้อยเกินไป
  • กระบอกตาสั้นเกินไป
  • ค่าดัชนีหักเหในลูกตาต่ำเกินไป

โดยทุกปัจจัยล้วนแล้วแต่ทำให้แสงโฟกัสหลังถึงจอตาทั้งสิ้น อย่างไรก็ดีในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนของการเกิดสายตายาว แต่ทราบว่าน่าจะเกิดจากหลายปัจจัยรวมกันเช่น

  • พันธุกรรม ลูกที่เกิดจากพ่อแม่สายตายาวมาก มีแนวโน้มที่จะมีสายตายาวมากกว่าเด็กปกติ
  • เชื้อชาติ ชาวยุโรป มีแนวโน้มสายตายาวมากกว่าชาวเอเชีย

พาลูกไปวัดสายตามา พบว่าเป็นสายตายาว ผิดปกติหรือไม่ ต้องทำอย่างไรบ้าง……???

*** การที่เด็กมีสายตายาวถือเป็นเรื่องปกติ โดยจากค่าเฉลี่ยแล้วพบว่าเด็กแรกเกิดจะมีค่าสายตายาวเล็กน้อย เฉลี่ยประมาณ 1 ไดออปเตอร์ โดยค่าสายตาจะของเด็กจะมีแนวโน้มไปทางยาวเพิ่มขึ้นในอายุช่วงแรกเกิดจนถึง 6 ขวบ หลังจากนั้นจะมีแนวโน้มไปในทางสั้นมากขึ้น ดังนั้นการที่ลูกมีสายตายาวเล็กน้อยถือเป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ดี ถ้าลูกมีสายตายาวมากควรสังเกตว่าลูกมีภาวะตาเหล่เข้าในร่วมด้วยหรือไม่ ถ้ามีควรพาไปพบจักษุแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยเร็ว

จะรู้ได้อย่างไรว่าตนเองสายตายาวรึป่าว ถ้าไม่ได้วัดสายตา……???

*** อาจสังเกตได้จากความคมชัดของการมองเห็นเทียบระหว่างการมองระยะไกลและระยะใกล้ ถ้ามองระยะไกลได้ชัดเจนกว่าการมองระยะใกล้ แสดงว่าน่าจะเป็นสายตายาว อย่างไรก็ดีถ้ามีสายตายาวเพียงเล็กน้อยอาจมองเห็นได้ชัดทั้งใกล้และไกลเหมือนคนปกติก็ได้ (ตายาวทดสอบสายด้วยตนเอง http://www.doctorvision.net/main.php?mpage=menu3_show&;news_no=10)

สายตายาวถ้าเป็นอยู่แล้วจะเป็นมากขึ้นหรือไม่…….???

*** โดยปกติค่าสายตาของเด็กจะมีแนวโน้มไปทางยาวเพิ่มขึ้นในอายุช่วงแรกเกิดจนถึง 6 ขวบ หลังจากนั้นจะมีแนวโน้มไปในทางสั้นมากขึ้น ในช่วงอายุ 6 ปีจนถึงช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น และสายตาจะมีแนวโน้มเปลี่ยนไปทางสายตายาวอีกครั้งเมื่ออายุย่างเข้าวัยกลางคน จะเห็นว่าสายตาของเรามีการเปลี่ยนแปลงตลอดช่วงชีวิต โดยอาจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงอายุที่กำลังเจริญเติบโตและช่วงอายุที่เริ่มเป็นต้อกระจก

ตอนเด็กๆสายตาสั้น เมื่ออายุมากขึ้นเป็นสายตายาว จะทำให้หายสายตาสั้นได้หรือไม่ / ?เมื่ออายุมากขึ้น สายตาจะยาวขึ้นจริงหรือไม่…….???

*** เมื่ออายุมากขึ้นจะทำให้สายตายาวขึ้น โดยสายตายาวที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุแบ่งได้เป็นสองประเภทคือ

  • สายตายาว (Hyperopia) สายตายาวประเภทนี้จะหักล้างกับสายตาสั้นได้ ดังนั้นถ้าใครสายตาสั้นอยู่เมื่อตอนเด็ก แล้วเมื่ออายุมากขึ้นมีการเพิ่มขึ้นของสายตายาว จะทำให้ตาที่เคยสั้นอยู่สั้นน้อยลงได้ (เช่นเคยสั้น -2.00 ไดออปเตอร์ เหลือ -1.00 ไดออปเตอร์) คนส่วนใหญ่มีสายตายาวเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมาก แต่ไม่เป็นกับทุกคน
  • สายตายาวสูงอายุ (Presbyopia) สายตายาวสูงอายุนี้จะไม่หักล้างกับสายตาสั้น เนื่องจากสาเหตุการเกิดสายตายาวชนิดนี้ไม่ได้เกิดจากระบบการหักเหแสงของดวงตา แต่เกิดจากความสามารถในการเพ่งที่ลดลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงไม่สามารถหักล้างกับสายตาสั้นได้ สายตายาวสูงอายุนี้เมื่ออายุมากประมาณ 40 ปีขึ้นไปจะต้องเป็นกันทุกคนเนื่องจากเป็นความเสื่อมของร่างกายมนุษย์อย่างหนึ่งคล้ายกับผิวหนังที่เหี่ยวย่นลง ผมที่สีจางและบางลงเป็นต้น

สายตายาว มีวิธีแก้ไขอย่างไรบ้าง นอกจากการใส่แว่นตา………???

*** อาจแบ่งการแก้ไขสายตายาวออกเป็นสองวิธีหลักๆคือ

  1. 1.Noninvasive method วิธีที่ไม่ต้องผ่าตัด

◦แว่นตา ในปัจจุบันมีเลนส์แว่นตาแก้สายตายาวให้เลือกหลากหลายแบบ ทั้งเลนส์ธรรมดา เลนส์แอสเฟียริก เลนส์ไฮอินเดกสำหรับคนสายตายาวมาก หรือเลนส์กันกระแทกสำหรับเด็ก และมีทั้งแบบเคลือบกันรังสียูวี กันแสงสะท้อน(Anti Reflection) เลนส์เปลี่ยนสี ฯลฯ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านเลนส์เพื่อเลือกเลนส์ให้เหมาะกับการใช้งานของท่านที่สุด

◦คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม (Soft Contact Lens) สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการใส่แว่นตา ผู้ที่มีสายตาสองข้างต่างกันมาก ผู้ที่มีสายตาสูง ฯลฯ

◦ คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง (Rigid Gaspermeable Contact Lens, RGP) สำหรับผู้ที่มีตาแห้งมาก ไม่สามารถใส่คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มได้ หรือผู้ที่มีกระจกตาบิดเบี้ยว

  1. 2.Invasive Methods วิธีการผ่าตัด นิยมใช้เมื่อมีค่าสายตามากๆ ถ้าสายตายาวเพียงเล็กน้อยไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากโดยปกติสายตามนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น

◦ Lesik (Laser-assisted in situ keratomileusis) การผ่าตัดกระจกตาโดยใช้แสงเลเซอร์ ทำโดยเปิดผิวกระจกตาด้านหน้าออก (Flap) เพื่อยิงเลเซอร์แก้ไขกระจกตาในชั้น Stroma เมื่อผ่าเสร็จแล้วจะมีการปิด Flap เข้าที่เดิมทำให้สามารถมองเห็นได้ดีขึ้นในทันทีหลังการรักษา แผลหายเร็วกว่าการทำ PRK

◦ PRK (Photorefractive Keratectomy) เป็นการผ่าตัดกระจกตาโดยใช้แสงเลเซอร์อย่างหนึ่ง โดยมีการยิงเลเซอร์โดยตรงที่ผิวกระจกตาโดยไม่มีการเปิดFlap เหมือนการทำ Lasik หลังจากการทำแล้วจึงต้องใช้คอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษที่มีอ๊อกซิเจนผ่านสูง(Bandage Contact lens) ปิดกระจกตาไว้เนื่องจากไม่มี Flap แผลหายช้ากว่าLasik แต่ผลลัพธ์ที่สามเดือนไม่มีความแตกต่างกัน เหมาะกับคนที่มีสายตายาวสูงกว่า หรือคนที่ไม่ต้องการมีปัญหาเรื่อง Flap ที่อาจเกิดขึ้นได้หลังจากการทำ Lasik

◦ผ่าตัดฝังเลนส์เทียม มักใช้เมื่อค่าสายตามากเกินกว่าที่ Lasik หรือ PRK จะสามารถแก้ไขได้ ทำโดยการฝังเลนส์เทียมเข้าไปเพิ่มเติม เลนส์เทียมมีทั้งชนิดที่ใช้ทดแทนเลนส์เดิม (สำหรับคนที่ต้องการผ่าต้อกระจกอยู่แล้ว) และเลนส์ที่ฝังเข้าไปเพิ่มโดยไม่มีการนำเลนส์เดิมออก(สำหรับผู้ที่ต้องการรักษาสายตายาวที่ไม่เป็นต้อกระจก)

◦Laser Thermal Keratoplasty การใช้แสงเลเซอร์รักษาสายตายาวโดยการยิงเลเซอร์เป็นวงกว้าง 6-7 มิลลิเมตร ทำให้เกิดการหดตัวของกระจกตาบริเวณข้างๆ ทำให้กระจกตาส่วนกลางนูนตัวขึ้นและแสงสามารถโฟกัสได้ใกล้กระจกตามากขึ้น วิธีนี้จะได้ผลดีในระยะเวลาหนึ่งและเมื่อเวลาผ่านไปอาจมีการคืนตัวของกระจกตาทำให้ความนูนลดลงได้

◦Conductive Keratoplasty การใช้เข็มเล็กๆที่ปล่อยคลื่นความถี่สูงจิ้มเข้าที่กระจกตาเป็นวงกลมเพื่อให้เกิดการหดตัวของกระจกตาเช่นเดียวกันกับ Laser Thermal Keratoplasty

สายตายาว เป็นแล้วอันตรายไหม ทำให้ตาบอดได้หรือไม่ สายตายาวมีข้อควรระวังอะไรบ้าง…..???

*** สำหรับผู้ที่มีสายตายาวมีข้อควรรู้ดังนี้

  • อาการของคนสายตายาว อาจมีตั้งแต่ สายตาอ่อนล้า ตามัว ปวดตาปวดหัวโดยเฉพาะเมื่อใช้สายตาระยะใกล้ เห็นภาพซ้อน การแก้ไขปัญหาสายตาจะช่วยทำให้อาการเหล่านี้น้อยลงหรือหมดไปได้
  • ภาวะความผิดปกติของการเพ่ง (Accommodation Dysfunction) อาจเกิดขึ้นได้กับผู้ที่มีสายตายาว ปัญหานี้เป็นปัญหาการมองเห็นที่ซับซ้อน ตัวอย่างเช่น กำลังการเพ่งไม่เพียงพอ (Accommodative Insufficiency) การปรับกำลังการเพ่งไม่ดี(Accommodative Infacility) การเพ่งค้าง (Accommodative Spasm) เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้จะส่งผลให้การทำงานระยะใกล้ได้ไม่ดี แนะนำให้ปรึกษานักทัศนมาตรเพื่อทำการตรวจและแก้ไข
  • ภาวะความผิดปกติของระบบการมองสองตา(Binocular Dysfunction) ระบบการเพ่งมีความเกี่ยวข้องกับระบบการมองสองตาอย่างมาก ทำให้เมื่อมีปัญหากับระบบการเพ่งแล้วก็มักจะพบปัญหาของระบบการมองสองตาตามมาด้วย ตัวอย่างเช่น Convergence Excess, Divergence Excess เป็นต้น
  • ตาเหล่ตาเข (Strabismus, Tropia) การที่เด็กมีปัญหาสายตายาวอาจทำให้เกิดปัญหาตาเขเข้าใน (accommodation esotropia) ตามมาได้ การเขเข้าอาจเป็นแบบชั่วคราว(เป็นๆหายๆ) หรือแบบถาวร อาจจะเป็นแบบข้างเดียวหรือสลับข้างด้วย ถ้าท่านสังเกตเห็นอาการดังกล่าวควรพาบุตรหลานไปพบจักษุแพทย์หรือนักทัศนมาตรโดยเร็วเนื่องจากตาเขดังกล่าวถ้าเพิ่งเป็นจะยังรักษาโดยการใช้แว่นตาได้ แต่ถ้าเป็นนานแล้ว การใช้แว่นตามักไม่ได้ผลจึงอาจต้องรักษาตาเขโดยการผ่าตัด ร่วมกับการรักษาตาขี้เกียจด้วยถ้าพบว่าเป็นความเชื่อที่ว่าตาเขของเด็กหายเองได้เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะเมื่อเด็กอายุเกิน 6 เดือนแล้ว (อายุก่อน 6 เดือนทารกอาจมีการควบคุมกล้ามเนื้อตายังไม่ดีนัก จึงอาจสังเกตเห็นทารกตาเขได้ แต่ถ้าพ้น 6 เดือนแล้วยังสังเกตเห็นตาเขอยู่ให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที)
  • ตาขี้เกียจ สำหรับเด็กที่มีสายตายาวเกินกว่า +3.00 D ขึ้นไปมีความเสี่ยงในการเป็นตาขี้เกียจ (Amblyopia, Lazy eye) ดังนั้นผู้ปกครองทุกท่านควรนำบุตรหลานไปรับการตรวจตาจากเมื่อเด็กอายุได้ 6 เดือนถึงหนึ่งปี เพื่อคัดกรองว่ามีปัญหาโรคตาหรือสายตาหรือไม่ ถ้ามีปัญหาสายตาหรือโรคตาจะได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงทีเนื่องจากตาขี้เกียจจะรักษาได้ผลดีที่สุดที่อายุไม่เกิน 6 ปี