Ortho-K Lens เลนส์กดกระจกตา คอนแทคเลนส์ใส่นอนแก้ไขค่าสายตา[AT079]

รวมคำถามเลนส์จัดตา OK Lens, OrthoKeratology, Ortho-K lens

 

OrthoK lens คืออะไร…..???

OrthoK lens คือชื่อของคอนแทคเลนส์ชนิดกึ่งนิ่มกึ่งแข็งที่ออกแบบผิวด้านหลังแบบ Reverse Geometryใช้สำหรับใส่นอนเพื่อแก้ไขปัญหาสายตา การใช้งานของ OrthoK Lens จะใช้สำหรับใส่ขณะนอนหลับ และถอดออกเมื่อตื่น โดยระหว่างวันผู้ใช้เลนส์ไม่จำเป็นต้องใส่คอนแทคเลนส์หรือแว่นตา ก็สามารถมองเห็นได้ชัดเจน

 

OrthoK lens แก้ไขค่าสายตาได้อย่างไร…..???

OrthoK lens แก้ไขค่าสายตาโดยการปรับความโค้งของกระจกตาคล้ายกับการทำเลสิก ต่างกับการทำเลสิกตรงที่การใช้ OrthoK Lens ไม่ต้องผ่าตัด ผู้ใช้เพียงแค่ใส่ OrthoK Lens  ขณะหลับและถอดออกเมื่อตื่นนอน คอนแทคเลนส์ที่ถูกออกแบบเป็นพิเศษจะช่วยปรับความโค้งของกระจกตาในขณะนอนหลับ ทำให้ความโค้งกระจกตาเหมาะสมและมองเห็นได้ชัดเจนขึ้น

รูปเปรียบเทียบ การแก้ไขสายตาชนิดต่างๆ

 

1 ภาพแสดงสายตาปกติ แสงที่เข้าสู่ดวงตา(สีเขียว)โฟกัสพอดีที่จอตา มองเห็นได้ชัดเจน

 

2 ภาพแสดงสายตาสั้น แสงที่เข้าสู่ดวงตา โฟกัสสั้นกว่าจอตา ทำให้มองเห็นไม่ชัด

 

3 ภาพแสดงสายตาสั้นที่แก้ไขด้วยแว่นตาเลนส์เว้า ทำให้แสงที่เข้าสู่ดวงตาโฟกัสพอดีที่จอตาและให้มองเห็นชัด

 

4 ภาพแสดงสายตาสั้นที่แก้ไขด้วยคอนแทคเลนส์ที่เป็นเลนส์เว้า ทำให้แสงที่เข้าสู่ดวงตาโฟกัสพอดีที่จอตาและมองเห็นชัด (การใช้คอนแทคเลนส์เป็นการแก้ไขโดยการใช้เลนส์เว้าเช่นเดียวกันกับเลนส์แว่นตา โดยคอนแทคเลนส์คือเลนส์ที่ถูกย่อให้เล็กลงเพื่อนำมาใส่ที่ดวงตาได้)

5 ภาพแสดงสายตาสั้นที่แก้ไขด้วยเลสิก แก้ไขสายตาโดยการเปลี่ยนความโค้งกระจกตา ทำให้แสงที่เข้าสู่ดวงตาโฟกัสพอดีที่จอตาและมองเห็นชัด (การทำเลสิกเป็นการแก้ไขโดยการผ่าตัดด้วยเลเซอร์ แสงเลเซอร์จะทำลายเนื้อกระจกตาบางส่วนทำให้กระจกตาบางลง และความโค้งกระจกตาลดลง การแก้ไขเป็นแบบถาวร ไม่สามารถทำกระจกตาให้หนาเหมือนเดิมได้)

6 ภาพแสดงสายตาสั้นที่แก้ไขด้วย OrthoK lens แก้ไขสายตาโดยการเปลี่ยนความโค้งกระจกตา ทำให้แสงที่เข้าสู่ดวงตาโฟกัสพอดีที่จอตาและมองเห็นชัด (การใช้ OrthoK lens เป็นการแก้ไขโดยการใส่คอนแทคเลนส์ที่ออกแบบพิเศษเพื่อปรับความโค้งกระจกตา โดยเซลล์ของกระจกตาชั้นผิวจะเกิดการจัดเรียงตัวใหม่ทำให้ไม่มีการสูญเสียเนื้อกระจกตา การแก้ไขเป็นแบบชั่วคราว เมื่อหยุดใส่เลนส์แล้วความโค้งกระจกตาและค่าสายตาจะค่อยๆคืนกลับมาดังเช่นก่อนใช้เลนส์)

 

รูปแสดง การแก้ไขสายตาโดย OrthoK

1 กระจกตาก่อนการใช้ OrthoK lens (สีแดงคือ OrthoK lens, สีม่่วงคือ กระจกตาชั้นนอกสุด และสีขาวคือกระจกตาชั้นใน

 

2เมื่อใส่เลนส์ เลนส์จะทำการปรับความโค้งผิวกระจกตาชั้นนอกโดยไม่มีการสูญเสียเนื้อกระจกตา

3 เมื่อถอดเลนส์ออก ความโค้งผิวกระจกตาเปลี่ยนไปทำให้มองเห็นได้ชัดเจนขึ้น ความโค้งกระจกตาที่เปลี่ยนไปนั้นเป็นแบบชั่วคราว ถ้าเลิกใส่เลนส์ความโค้่งผิวกระจกตาจะค่อยๆคืนกลับมาสู่ความโค้งเดิมก่อนใส่ (ต่างจากการทำเลสิกที่ความโค้งกระจกตาเปลี่ยนไปแบบถาวร ทำให้กระจกตาบางลงและไม่สามารถย้อนกลับได้)

 

OrthoK lens มีอันตรายในการใช้หรือไม่……???

ตอบ OrthoK Lens ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ว่าสามารถใส่นอนได้อย่างปลอดภัย โดยตัวเลนส์ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใส่นอนโดยเฉพาะ ทำจากวัสดุที่ยอมให้อ๊อกซิเจนซึมผ่านสูง ดังนั้นการใส่ OrthoK Lens นอนจึงมีความปลอดภัย

 

ระบบการออกแบบ OrthoK lens มีอะไรบ้าง……???

ระบบที่ใช้ทำ OrthoK lens ที่ได้รับการรับรองจาก US FDA ในปัจจุบันมี 2 ระบบคือ

  1. ระบบ CRT (Corneal Refraction Therapy) ซึ่งถูกคิดค้นโดยบริษัท Paragon Vision Science เลนส์ที่ใช้ระบบนี้คือเลนส์ Paragon CRTของ Paragon Vision Science
  2. ระบบ VST (Vision Shaping Treatment) ซึ่งถูกคิดค้นโดยบริษัท Bausch & Lomb ตัวอย่างเลนส์ที่ออกแบบโดยระบบนี้เช่น Dreamlens , Emerald, MiracLens, Contex OK lens, NightMove etc.

 

เคยได้ยินว่าการใส่คอนแทคเลนส์นอนเป็นอันตราย การใส่ OrthoK lens นอนเป็นอันตรายหรือไม่……???

คอนแทคเลนส์มีหลายชนิด ซึ่งบางชนิดถูกออกแบบมาให้ใส่เฉพาะตอนกลางวัน ถ้านำมาใส่นอนจะทำให้เกิดผลเสียต่อดวงตาได้เนื่องจากยอมให้อ๊อกซิเจนซึมผ่านได้ต่ำ ทำให้กระจกตาขาดอ๊อกซิเจนและอ่อนแอ ส่วน OrthoK Lens เป็นเลนส์ที่ออกแบบสำหรับการใส่นอนโดยเฉพาะโดยวัสดุที่ใช้ทำเลนส์ให้ค่าอ๊อกซิเจนสูง ใส่นอนได้อย่างปลอดภัย ไม่ต่างจากคอนแทคเลนส์ที่ใช้สำหรับใส่นอนได้ทั่วไป(Extended Wear) อย่างไรก็ดี การใส่คอนแทคเลนส์ทุกชนิดทำให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นตาแดง ตาอักเสบ หรือกระจกตาติดเชื้อมากขึ้น ดังนั้นผู้ใส่ควรปฏิบัติตามวิธีการถอด ใส่ และทำความสะอาดเลนส์ที่ถูกต้องอย่างเคร่งครัด

 

OrthoK lens เหมาะสำหรับใครบ้าง……???

สำหรับการแก้ไขปัญหาสายตา OrthoK Lens เหมาะกับบุคคลต่างๆดังนี้

  • บุคคลทั่วไปที่ไม่ต้องการใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ในเวลากลางวัน
  • ผู้ที่ต้องการทำเลสิกแต่มีข้อจำกัดในการทำ เช่น สายตายังไม่คงที่ อายุน้อยกว่า 18 ปี หรือกระจกตาไม่เหมาะกับการทำเลสิก
  • ผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ และมีปัญหาตาแห้ง
  • นักกีฬา ที่ไม่สะดวกในการใช้แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์
  • อาชีพบางอาชีพที่ไม่เหมาะกับการใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ เช่น ทหาร ตำรวจ นักบิน แอร์โฮสเตส นักผจญเพลิง ฯลฯ

OrthoK lens มีหลักการทำงานอย่างไร ทำไมถึงแก้ไขสายตา สั้น ยาว เอียง ได้…..???

OrthoK Lens สามารถแก้ไขปัญหาสายตาได้โดยการปรับความโค้งของกระจกตา โดยความโค้งของกระจกตาที่เปลี่ยนแปลงจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเพียงชั่วคราว ถ้าหยุดใส่คอนแทคเลนส์ ความโค้งของกระจกตาจะกลับสู่ค่าปกติ โดยชั้นของกระจกตาที่มีการเปลี่ยนแปลงคือชั้นผิวกระจกตาชั้นนอก (Epithelium) เท่านั้น

 

OrthoK lens ใช้แล้วมีอันตรายไหม มีความปลอดภัยแค่ไหน…..???

OrthoK Lens ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาแล้วว่ามีความปลอดภัย สามารถใช้เพื่อแก้ไขสายตาสั้นได้

 

การใส่เลนส์นอน มีอันตรายหรือไม่……???

OrthoK Lens ถูกออกแบบมาเพื่อให้ใส่นอนโดยเฉพาะ โดยเป็นเลนส์ที่ยอมให้อ๊อกซิเจนผ่านสูง ดังนั้นการใส่ OrthoK Lens นอนจึงมีความปลอดภัยสูงกว่าการใส่คอนแทคเลนส์ทั่วไปนอน อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของการติดเชื้อที่กระจกตาก็ยังมีอยู่ เทียบได้กับการใส่คอนแทคเลนส์ทั่วไป

 

OrthoK lens สามารถแก้ไขค่าสายตาได้ทุกกรณีเลยหรือไม่…..???

OrthoK Lens มีข้อจำกัดในการแก้ไขสายตาเช่นเดียวกับเทคนิคอื่น โดยถ้าค่าสายตาสูงเกิน -8.00D ผู้ที่มีสายตาเอียงในแนวองศา 90 หรือในแนวเฉียง ผู้ที่มีค่าเอียงของกระจกตาสูง ค่าสายตาอาจแก้ไขได้ไม่หมด ดังนั้นก่อนการใช้ OrthoK Lens จึงควรได้รับการตรวจเพื่อประเมินผลก่อนการใช้เลนส์จริง

 

ผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์แล้วตาแห้ง เหมาะกับการใช้ OrthoK lens หรือไม่…..???

OrthoK Lens เหมาะกับคนตาแห้งที่เกิดจากการใส่คอนแทคเลนส์ เนื่องจากการใส่คอนแทคเลนส์ในเวลากลางวัน คอนแทคเลนส์จะทำให้สมดุลของชั้นน้ำตาเสียไปทำให้น้ำตามีการระเหยมากกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดตาแห้งตามมา แต่การใช้ OrthoK Lens จะใช้เฉพาะเวลานอนหลับเท่านั้น เมื่อตื่นมาแล้วถอดออก จึงไม่จำเป็นต้องใส่เลนส์ในเวลากลางวัน สมดุลของชั้นน้ำตาไม่ถูกรบกวนในระหว่างลืมตาทำให้ตาแห้งลดลง เหมือนกับการที่ไม่ใส่คอนแทคเลนส์ อย่างไรก็ดี มีโรคบางโรคที่ทำให้ตาแห้งอย่างรุนแรงและไม่เหมาะกับการใส่คอนแทคเลนส์

 

ปัญหาสายตาจะหายไป หลังใส่เลนส์แล้วนานเท่าไร……???

ขึ้นอยู่กับค่าสายตาและความโค้งกระจกตาเริ่มต้นของผู้ใช้ บางท่านสามารถมองเห็นได้ชัดเจนได้หลังจากการใส่ OrthoK Lens ได้เพียงคืนเดียว โดยส่วนใหญ่ค่าสายตาจะลดลงเต็มที่หลังจากใส่เลนส์ไปแล้วไม่เกิน 2 สัปดาห์

 

เมื่อหยุดใส่เลนส์ ค่าสายตาจะกลับมาเหมือนเดิมหรือไม่…..???

หลังจากหยุดใส่ OrthoK Lens ได้ หนึ่งถึงสองเดือน ค่าสายตาจะกลับมาสั้น ยาว เอียงเหมือนเดิมดังเช่นค่าสายตาก่อนใช้เลนส์

 

มีข้อจำกัดในการใส่เลนส์หรือไม่ อายุน้อยที่สุดที่ใส่เลนส์ได้เป็นเท่าไร

ไม่มีข้อจำกัดทางอายุสำหรับการใส่ OrthoK Lens

 

สายตาที่แก้ไขได้ สูงสุดเป็นเท่าไร

ค่าสายตาสั้นสูงสุดที่แก้ไขได้คือ -8.00 D สายตายาว +4.00D และสายตาเอียง -2.25D  ทั้งนี้ขึ้นกับค่าความโค้งของกระจกตาก่อนการใส่คอนแทคเลนส์ด้วย

 

สายตายังสั้นเพิ่มขึ้นทุกปี สามารถใช้เลนส์ได้หรือไม่…..???

การใช้ OrthoK Lens นอกจากจะช่วยแก้ไขค่าสายตาแล้ว งานวิจัยหลายชิ้นยังพบว่าการใช้ OrthoK Lens สามารถช่วยควบคุมสายตาสั้นไม่ให้เพิ่มขึ้นได้อีกด้วย ดังนั้นผู้ใช้ OrthoK Lens ที่สายตายังสั้นเพิ่มขึ้นทุกปีจะได้ประโยชน์ในด้านการคุมสายตาสั้นเพิ่มเติมอีกด้วย

 

ค่าใช้จ่ายในการใส่เลนส์มีอะไรบ้าง….???

ค่าใช้จ่ายในการใส่เลนส์ทั้งหมดมีดังนี้

  • ให้คำแนะนำ ซักถามข้อสงสัยในการทำ ไม่เสียค่าใช้จ่าย
  • ค่าตรวจเบื้องต้น เพื่อดูว่าเหมาะกับการใส่เลนส์หรือไม่ 500 บาท  (ตรวจสุขภาพตา ตรวจความโค้งกระจกตา ตรวจค่าสายตาอย่างละเอียด ประเมินความสำเร็จในการใส่คอนแทคเลนส์) ผู้เชี่ยวชาญจะบอกถึงอัตราความสำเร็จเพื่อให้ผู้ถูกตรวจตัดสินใจอีกครั้งว่าต้องการทำหรือไม่
  • ค่าประกอบ ฟิตติ้งคอนแทคเลนส์ 5,000-8,000 บาท(ประกอบคอนแทคเลนส์ให้เหมาะกับดวงตา สอนการใส่และถอดคอนแทคเลนส์ การตรวจติดตามผลหลังจากการใส่ 2 ปี จำนวนอย่างน้อย 9 ครั้ง (วันแรก สัปดาห์แรก สองสัปดาห์แรก เดือนแรก สามเดือนแรก หกเดือนแรก 12-18-24 เดือนตามลำดับ) , การแก้ไขปรับเปลี่ยนเลนส์ให้เหมาะกับตา )
  • ค่าคอนแทคเลนส์ 15,000-30,000 บาท พร้อมอุปกรณ์ (คอนแทคเลนส์ 2 ข้าง ตลับใส่คอนแทคเลนส์ น้ำยาล้างและ น้ำยาแช่คอนแทคเลนส์ คู่มือแนะนำการใช้งาน จุ๊บถอดคอนแทคเลนส์ ราคาคอนแทคเลนส์ขึ้นกับค่าสายตา ค่าความโค้งกระจกตา ค่า Corneal Eccentricity)

 

เปรียบเทียบการทำเลสิกกับการใช้ OrthoK Lens มีข้อดี ข้อเสียต่างกันอย่างไร…..???

ทั้งเลสิกและ OrthoK Lens ต่างเป็นวิธีที่ทำให้ผู้ใช้ ไม่ต้องใส่แว่นตาและคอนแทคเลนส์ในเวลากลางวัน อย่างไรก็ดีข้อได้เปรียบของแต่ละวิธีเป็นดังนี้

  • ข้อได้เปรียบของเลสิก
    • ไม่ต้องดูแลรักษา ถอดหรือใส่คอนแทคเลนส์
    • แก้ไขสายตาเอียงได้แม้เอียงในแนวเฉียงหรือแนว 90 องศา
    • ใช้เวลาทำน้อย ยิงเลเซอร์เสร็จสามารถมองเห็นได้ชัดเจนขึ้นทันที
  • ข้อได้เปรียบของ OrthoK Lens
    • เป็นวิธีที่ไม่ต้องผ่าตัด ถ้าไม่ต้องการใช้เลนส์ต่อ เพียงหยุดใส่เลนส์จะทำให้กระจกตาคืนสู่สภาวะปกติในระยะเวลาไม่เกิน 2 เดือน
    • ค่าสายตามนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆตลอดเวลา การใช้ OrthoK Lens สามารถเปลี่ยนเลนส์เพื่อให้เหมาะสมกับสายตาที่เปลี่ยนแปลงไปได้โดยไม่ต้องผ่าตัดซ้ำ
    • ใช้ได้แม้ผู้ที่อายุน้อย ในขณะที่เลสิกควรทำเมื่ออายุ 18 ปีขึ้นไป
    • ใช้ได้แม้ค่าสายตายังไม่คงที่ และได้ผลพลอยได้จากการควบคุมสายตาสั้นด้วยเนื่องจากมีงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่าสามารถช่วยควบคุมสายตาไม่ให้สั้นเพิ่มขึ้นได้
    • ไม่มีความเสี่ยงที่เกิดจากการผ่าตัด หรือปัญหาต่างๆที่เกิดจาก Flap  (แผ่นกระจกตาที่ถูกเปิดออก) เช่น Flap หลุด ย่น ไม่ยอมติด หรือผิวกระจกตาเจริญผิดปกติ
    • ไม่ทำให้เกิดปัญหาตาแห้ง ต่างจากการทำเลสิกที่มักทำให้มีปัญหาตาแห้งตามมาหลังผ่าตัด เนื่องจากการผ่าตัดได้ทำลายปลายประสาทสัมผัสที่กระจกตาซึ่งเป็นตัวกระตุ้นการไหลของน้ำตา
    • ไม่ทำให้เห็นแสงไฟแตกกระจายหรือเห็นดวงไฟหลายดวง ซึ่งอาจเป็นได้หลังจากการทำเลสิก
    • ไม่ทำให้กระจกตาบางลง
    • ค่าใช้จ่ายถูกกว่าหลายเท่า เมื่อเทียบกับการทำเลสิก

OrthoK lens มีมานานแล้วหรือไม่ ทำไมไม่เคยทราบเกี่ยวกับเทคนิคนี้เลย….???

คอนแทคเลนส์ที่ใช้ปรับความโค้งกระจกตา ถูกผลิตเป็นเลนส์ขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมเนื่องจากวัสดุสมัยนั้นมีค่าการซึมผ่านอ๊อกซิเจนต่ำ ไม่เหมาะสำหรับใส่นอน ดังนั้นผู้ใช้ต้องใส่เลนส์เวลากลางวันทำให้เกิดการระคายเคืองตา จนกระทั่งมีการคิดค้นวัสดุสำหรับใช้ทำคอนแทคเลนส์ที่ให้ค่าการซึมผ่านอ๊อกซิเจนสูงขึ้น ทำให้สามารถใส่คอนแทคเลนส์นอนได้อย่างปลอดภัย ผู้ใช้รู้สึกสบายขึ้นเนื่องจากไม่ต้องใช้คอนแทคเลนส์เลยในเวลากลางวัน ทำให้เทคนิคนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น