เบาหวานขึ้นตา จอตาบวม CSME[AT042]

เบาหวานขึ้นตา จอตาบวม CSME

คุณประสิทธิ์(นามสมมุติ) อายุ 56 ปี ลูกค้าประจำของร้านหมอแว่น มาที่ร้านด้วยอาการตามัว ต้องการมาทำแว่นใหม่เพราะเลนส์ที่ตัดไปใช้มาได้หลายปีแล้ว

เมื่อวัดสายตาดู พบว่า VA ดีที่สุดของคุณประสิทธิ์คือ ตาขวา 20/20-1  ตาซ้าย 20/30-2 และไม่ดีขึ้นด้วย Pinhole ทางร้านจึงทำการถ่ายภาพจอประสาทตา จากรูปที่ถ่ายได้พบว่า จอตาด้านซ้ายบริเวณศูนย์กลางการมองเห็นและใกล้เคียง (Macula) มีอาการบวมตัว จัดเป็น CSME(Clinically Significant Macular Edema จอตาบริเวณศูนย์กลางการมองเห็นบวม ซึ่งควรรับการรักษาทันที) เมื่อดูประวัติเพิ่มเติม ได้ความว่า คุณประสิทธิ์ ป่วยเป็นโรคเบาหวานตั้งแต่อายุ 48 ปี และเมื่อซักประวัติเพิ่มเติม พบว่าการคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ค่อยดีเท่าไร จึงแนะนำให้คุณประสิทธิ์ไปพบจักษุแพทย์โดยด่วน โดยยังไม่ต้องตัดแว่นเนื่องจากแว่นอันเดิมยังพอใช้งานได้อยู่

 

7955618 orig   รูปถ่ายจอตา แสดงจอตาบวม (บริเวณที่เห็นเป็นจุดสว่างสีเหลืองเล็กๆ กระจายตัวเป็นกระจุก) การตรวจพบเบาหวานขึ้นตาระยะนี้ร่วมกับการรักษาอย่างถูกต้อง สามารถป้องกันตาบอดจากเบาหวานขึ้นตาได้

อนึ่ง โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย ผู้ป่วยเบาหวานที่คุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี จะมีโรคอื่นๆที่ตามมา เช่น เบาหวานขึ้นตา (อาจรุนแรงถึงขั้นทำให้ตาบอดได้) โรคไต(อาจทำให้ไตวาย) โรคเกี่ยวกับเส้นประสาทและเส้นเลือดขนาดเล็ก(ชาตามปลายมือปลายเท้า แผลหายช้า) และโรคที่เกี่ยวกับเส้นเลือดขนาดใหญ่ (โรคหัวใจ หลอดเลือด) ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานควรดูแลสุขภาพตนเองโดยมีข้อควรปฏิบัติดังนี้

  • พยายามคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ งานวิจัยระบุว่า ยิ่งคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือดได้ดีเท่าไร โอกาสที่จะเป็นโรคแทรกซ้อนอื่นๆก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น
  • ผู้เป็นเบาหวานเกินกว่า 5 ปี ควรได้รับการตรวจจอตาเป็นประจำ อย่างน้อยปีละครั้ง
  • ถ้าท่านเป็นโรคเบาหวานขึ้นตาแล้ว ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของจักษุแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อลดโอกาสการเกิดตาบอด
  • อาการเบาหวานขึ้นตา มักจะเป็นสัญญาณเตือนว่าจะมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆตามมา ดังนั้น ควรคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างเคร่งครัดเมื่อพบว่ามีอาการเบาหวานขึ้นตาแล้ว
4296507
   ถ้ามีอาการตามัว ควรเข้ารับการตรวจตา เนื่องจากตามัวเกิดได้จากหลายสาเหตุ บางสาเหตุมีความรุนแรงทำให้ตาบอดได้