ตามัวไม่ควรนิ่งนอนใจ Optic Nerve Swelling[AT047]

ตามัวไม่ควรนิ่งนอนใจ Optic Nerve Swelling

คุณราชโรจน์ (นามสมมุติ) อายุ 36 ปี พนักงานออฟฟิศ เข้ามาตรวจสายตาเนื่องจากรู้สึกว่าตัวเองตามัวได้ประมาณ 3 วัน ทางร้านจึงทำการวัดสายตาให้ตามปกติ

เมื่อตรวจสายตาแล้วพบว่าสายตาเปลี่ยนเล็กน้อย แต่จากประวัติของคุณราชโรจน์ พบว่าค่าการมองเห็นหลังจากแก้ไขสายตาแล้ว (BVA) เมื่อปีที่แล้วยังได้ 20/20 ทั้งสองตา  แต่ในครั้งนี้ BVA ของตาขวาเป็นปกติแต่ตาซ้ายค่อนข้างต่ำคือ 20/30-2 และไม่ดีขึ้นด้วย Pinhole ทางร้านจึงทำการตรวจสุขภาพตาด้วยเครื่องมืออื่นๆเพิ่มเติม

ผลการตรวจโดย Slitlamp ได้ผลเป็นปกติทั้งสองตา โดยไม่มีต้อลม ต้อเนื้อ ชั้นน้ำตาดูปกติ กระจกตาใส และไม่มีการอักเสบของลูกตาส่วนหน้าหรือ ม่านตา เลนส์ตาปกติ  จาก เครื่องวัดความดันตาแบบยิงลม ได้ค่าความดันลูกตาอยู่ในช่วงปกติ คือ 14.2  / 14.7  จึงไม่น่าจะเกี่ยวกับต้อหิน จาก เครื่องถ่ายจอตา จอตาบริเวณ Macula และโดยรวมดูปกติ แต่สังเกตเห็นบริเวณจอตาส่วนของขั้วประสาทตา (Optic Nerve Head) ของตาซ้ายมีลักษณะนูนตัวขึ้นเล็กน้อยและขอบไม่คม สีซีดเล็กน้อย เมื่อเทียบกับตาขวา ทางร้านจึงทำการตรวจยืนยันผลด้วยปากกาแสง ได้ผลคือ RAPD+ เนื่องจากเมื่อสังเกตการตอบสนองของม่านตาแล้ว พบว่า รูม่านตาของตาทั้งสองข้างมีขนาดต่างกันเล็กน้อยเมื่อฉายแสงเข้าตาขวาเทียบกับตาซ้าย จากอาการดังกล่าว คนไข้อาจจะมีความผิดปกติที่เส้นประสาทตา (Optic Nerve) จึงแนะนำให้คุณราชโรจน์ไปพบจักษุแพทย์เชี่ยวชาญด้านประสาทจักษุ (Neuro-Ophthalmology) โดยด่วน ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ใกล้บ้านคุณราชโรจน์ โดยทางร้านได้เขียนจดหมายส่งตัวเพื่อถือไปพบแพทย์ด้วย

PE-1

ขั้วจอประสาทตาบวมระยะที่1

 PE-2

 ขั้วจอประสาทตาบวมระยะที่2

PE-3

 ขั้วจอประสาทตาบวมระยะที่3

PE-4

ขั้วจอประสาทตาบวมระยะที่4

 PE-5

ขั้วจอประสาทตาบวมระยะที่5

 

อนึ่ง อาการตามัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับสายตา เกิดได้จากโรคตาหลายโรค โดยแต่ละโรคมีความรุนแรงมากน้อยต่างกัน บางโรคที่รุนแรงอาจทำให้ตาบอดได้ภายใน 24-48 ชั่วโมง แต่บางโรคใช้เวลาเป็นแรมปีกว่าจะทำให้ตาบอด ดังนั้น เมื่อท่านมีอาการตามัว ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรไปพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการตรวจตาหาสาเหตุของอาการตามัวและถ้าผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ไปพบจักษุแพทย์ ควรถามด้วยว่าอาการที่เป็นเร่งด่วนขนาดไหน เพื่อจะได้ไปพบจักษุแพทย์อย่างทันท่วงที