สายตายาวสูงอายุและการแก้ไข[AT017]

สายตายาวสูงอายุและการแก้ไข

*** สายตายาวสูงอายุคือสภาวะที่การมองเห็นระยะใกล้แย่ลง แต่การมองเห็นระยะไกลยังดีอยู่ มักเกิดเมื่ออายุประมาณ 40 ปี

 

สายตายาวสูงอายุเกิดจากอะไร…..???

*** เกิดจากเลนส์ตา (อวัยวะในลูกตาทำหน้าที่ปรับภาพระยะใกล้ให้ชัดเจน) มีความยืดหยุ่นลดลง ทำให้การปรับโฟกัสเพื่อมองระยะใกล้ทำได้ไม่ดี ส่งผลให้การมองเห็นระยะใกล้แย่ลง

 

สายตายาวตอนเด็กกับสายตายาวตอนสูงอายุ เหมือนกันหรือไม่ อย่างไร……???

*** ต่างกัน โดยสายตายาวสูงอายุเกิดขึ้นเนื่องจากความยืดหยุ่นของเลนส์ตาลดลง แต่สายตายาวตอนเด็กเกิดจากกำลังสายตาของเลนส์ตาหรือกระจกตาไม่เพียงพอ ทำให้แสงจากระยะไกลโฟกัสหลังจอตา อนึ่งสายตายาวในเด็กไม่เกี่ยวข้องกับความยืดหยุ่นของเลนส์ตาเนื่องจากเลนส์ตาของเด็กมีความยืดหยุ่นดีมาก

 

จะรู้ได้อย่างไรว่าตนเองสายตายาวสูงอายุรึป่าว ถ้าไม่ได้วัดสายตา…..???

*** ถ้าท่านเริ่มอายุย่างเข้าเลขสี่หรือพ้นเลขสี่ไปแล้ว ลองสังเกตการมองเห็นว่าเวลาอ่านหนังสือ การยืดแขนออกให้ห่างจากตัวมากขึ้นทำให้มองเห็นตัวหนังสือชัดเจนขึ้นหรือไม่ ถ้าตอบว่าใช่แสดงว่าท่านได้เป็นสมาชิกของสายตาสูงอายุแล้ว

 

สายตายาวสูงอายุ เป็นแล้วอันตรายไหม ทำให้ตาบอดได้หรือไม่……???

*** สายตาสูงอายุไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่สามารถสร้างความรำคาญและไม่สบายตากับการใช้สายตาระยะใกล้เช่นการอ่านหนังสือหรือการทำงานฝีมือ บางคนอาจรู้สึกปวดตาหรือปวดหัวได้เนื่องจากการต้องพยายามเพ่งเพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจน การใส่แว่นหรือคอนแทคเลนส์จะทำให้การมองระยะใกล้ชัดเจนขึ้นและสบายตาขึ้น

 

สายตายาวสูงอายุ เมื่ออายุมากขึ้นแล้วต้องเป็นทุกคนหรือไม่……???

*** ไม่มีใครหลีกเลี่ยงความชราพ้น ดังนั้นเราทุกคนจะมีเลนส์ตาที่มีความยืดหยุ่นลดลง เช่นเดียวกับผิวหนังที่เหี่ยวย่นขึ้นหรือผมที่หงอกและบางลง อย่างไรก็ดีแต่ละคนอาจมีปัญหาสายตาสูงอายุต่างกันไป สำหรับคนที่สายตายาวจะมีแนวโน้มมีปัญหาสายตาสูงอายุเร็วกว่าคนสายตาสั้น ในบางคนอาจไม่จำเป็นต้องใส่แว่นถ้าบังเอิญตาข้างหนึ่งสายตาใกล้เคียงปกติ (มองไกลได้ดี) และอีกข้างหนึ่งสายตาสั้นเล็กน้อย (ประมาณ -1.00 ถึง -2.50) เนื่องจากสามารถมองเห็นได้ชัดในระยะใกล้โดยตาข้างที่มีสายตาสั้น และเมื่อมองไกลก็ใช้ตาอีกข้างมองซึ่งสามารถเห็นได้ดีในระยะไกล เรียกการมองเห็นนี้ว่า Monovision(ใช้ตาข้างหนึ่งมองใกล้ และข้างหนึ่งมองไกล)

 

สายตายาวสูงอายุ ถ้าเป็นแล้วจะยาวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆหรือไม่ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร…..???

*** สายตายาวสูงอายุ เมื่อท่านเป็นแล้วค่าสายตาจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆตลอดเวลาตามอายุที่เพิ่มขึ้น ค่าสายตายาวสูงอายุเรามักเรียกว่า “ค่าแอด” ย่อมาจาก Addition โดยค่าแอดมีค่าตั้งแต่ +0.75 จนถึง +3.50 ไดออปเตอร์ สายตายาวที่เพิ่มขึ้นทำให้ท่านอาจต้องเปลี่ยนแว่นตาทุกๆสองถึงสามปี ไม่เช่นนั้น ท่านจะต้องยืดแขนออกเพื่อทำให้การมองเห็นชัดเจนขึ้น(เมื่อต้องยืดแขนจนกระทั่งตัวหนังสือเล็กแสดงว่าถึงเวลาเปลี่ยนเลนส์ใหม่แล้ว) อนึ่งการดึงแว่นให้ห่างจากตามากขึ้นจะช่วยทำให้มองเห็นระยะใกล้ได้ดีขึ้น แต่ก็จะดูไม่ค่อยดีนัก(ดูสูงอายุขึ้นอีก)

 

สายตายาวสูงอายุ มีทางเลือกอะไรบ้างถ้าใช้แว่นตา แต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียอย่างไร…???

*** ทางเลือกมีดังตาราง

ทางเลือก

ข้อดี

ข้อเสีย

แว่นตาอ่านหนังสือ

  • ราคาถูกที่สุด ราคาเลนส์เริ่มต้นที่ 300 บาทขึ้นไป(ไม่รวมราคากรอบ) แว่นสำเร็จรูปเริ่มต้นที่ไม่กี่สิบบาท(อ่านเพิ่มเติมบทความ “แว่นตา : แว่นสำเร็จรูป เลือกอย่างไรให้ใส่แล้วสบายตา” http://doctorvision.net/2012-01-23-15-41-20/2012-01-23-15-44-19/505-2012-04-16-09-41-04
  • มุมมองระยะใกล้กว้างที่สุด
  • มองไกลไม่ชัด ต้องถอดแว่นหรือมองลอดแว่นเมื่อมองไกล
  • ต้องเปลี่ยนแว่นเมื่อมองไม่ชัดทั้งใกล้และไกล
  • ต้องพกแว่นตาหลายอัน

แว่นตาสองชั้น

  • มองได้ชัดทั้งระยะไกลและไกล้ในแว่นตาอันเดียว
  • ไม่ต้องพกแว่นหลายอัน
  • ผู้ใส่มองเห็นภาพกระโดด
  • คนอื่นมองเห็นรอยต่อของแว่น แลดูสูงอายุ
  • มองระยะกลางได้ไม่ชัดเจนนัก
  • ต้องปรับตัวเข้ากับแว่น

แว่นโปรเกรสซีฟ

  • มองได้ชัดเจนทั้งระยะใกล้ กลาง และไกลในแว่นอันเดียว
  • ไม่ต้องพกแว่นหลายอัน
  • ไม่มีรอยต่อให้คนอื่นเห็น
  • การมองเห็นนุ่มนวล ไม่มีการกระโดดของภาพที่เห็น
  • ราคาแพง
  • ต้องการการปรับตัวสูง
  • มุมมองระยะใกล้แคบกว่าเลนส์สองชั้นและเลนส์อ่านหนัสือ

 

สายตายาวสูงอายุ เป็นแล้วทำให้มองระยะไกลได้ชัดเจนกว่าคนสายตาปกติจริงหรือไม่….???

*** ไม่จริง ที่เรียกว่าสายตายาวเนื่องจากมองไกล้ไม่ชัด ไม่ใช่มองได้ไกลกว่าคนปกติ

 

มียารักษาสายตายาวสูงอายุหรือไม่……???

*** ปัจจุบันยังไม่มียารักษาหรือป้องกัน ทำได้เพียงการแก้ไขสายตาให้มองใกล้ได้ดีขึ้นเช่นโดยแว่นตาและคอนแทคเลนส์ ฯลฯ

 

เทคโนโลยีล่าสุดที่แก้ไขสายตายาวสูงอายุมีอะไรบ้าง…..???

***อาจแบ่งการแก้ไขสายตายาวสูงอายุออกเป็นสองวิธีคือ

  1. 1.noninvasive method วิธีที่ไม่ต้องผ่าตัด

◦แว่นตาอ่านหนังสือ

◦แว่นตาสองชั้น

◦แว่นตาสามชั้น(มีเลนส์สำหรับดูระยะกลางด้วย)

◦แว่นโปรเกรสซีฟ

◦คอนแทคเลนส์โมโนวิชั่น (Monovision Contact Lens)

◦คอนแทคเลนส์หลายระยะ (Multifocal Contact Lens)

◦คอนแทคเลนส์ใส่นอนปรับกระจกตา(Orthokeratology Contact Lens)

  1. 2.invasive วิธีการผ่าตัด ไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากสายตายาวสูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงค่าสายตาตลอดเวลา ดังนั้นจะใช้ต่อเมื่อจำเป็นเท่านั้น ตัวอย่างเช่น

◦Inlay การฝังห่วงพลาสติกเล็กๆลงในกระจกตาทำให้ตาข้างนั้นสามารถมองเห็นระยะใกล้และกลางได้ดีขึ้น

◦Conductive Keratoplastyเป็นการใช้คลื่นวิทยุเพื่อเปลี่ยนความโค้งของกระจกตาเพื่อให้มีกำลังมากขึ้น เป็นวิธีการทำ Monovision อย่างหนึ่ง ยังไม่ได้รับการรับรองจาก FDA สหรัฐอเมริกา

◦Scleral Expansion Band เพื่อเพิ่มพื้นที่ระหว่างเลนส์ตาและกล้ามเนื้อตา แต่ยังเป็นวิธีที่คาดเดาผลยาก

◦ผ่าตัดฝังเลนส์เทียม มีทั้งแบบ Multifocal Intraocular Lens (เลนส์หลายระยะไร้รอยต่อ) และ Accommodative Intraocular Lens(เลนส์เลียนแบบการเพ่งของมนุษย์) แต่ทั้งสองอย่างยังไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากราคาแพงและการมองเห็นยังไม่ดีเท่าที่ควร

◦การผ่าตัดกระจกตาด้วยแสงเลเซอร์ Lesik หรือ PRK เพื่อทำให้มีการมองเห็นแบบ Monovision

◦Intracor ผ่าตัดกระจกตาให้ทำงานเสมือนเป็นเลนส์หลายระยะไร้รอยต่อ มีการทำแล้วในยุโรป

◦Lasor Blended Vision การผ่าตัดกระจกตาด้วยแสงเลเซอร์คล้ายการทำ Monovision คือมีตาข้างเด่นสำหรับมองไกลและอีกข้างสำหรับมองใกล้ และมีการเพิ่ม Depth of Focus ให้กับตาทั้งสองข้างด้วยทำให้สามารถมองเห็นได้ดีขึ้นกว่าการทำ Monovision ธรรมดา สามารถมองเห็นได้ทั้งระยะใกล้ กลาง และไกล

(คุณช่วยเราได้ โดยเพิ่มคำถามของคุณที่นี่ เพิ่มคำถาม เราจะตอบทุกคำถามของคุณทั้งทางอีเมลล์และในหน้านี้)