FAQ สายตาเอียง???[AT016]

สายตาเอียงคืออะไร…..???

*** นิยามของสายตาเอียงคือ “ภาวะผิดปกติของการหักเหแสง(Refractive Error)ในลูกตา ทำให้แสงในสองแกนหลักไม่โฟกัสที่จุดเดียวกัน” อธิบายให้เข้าใจง่ายคือภาวะที่แสงไม่โฟกัสที่จุดเดียว ทำให้เห็นภาพไม่ชัดเจนทั้งระยะใกล้และระยะไกล ส่วนใหญ่สาเหตุเกิดจากความโค้งกระจกตาไม่เท่ากัน (ถ้ากระจกตาโค้งเท่ากัน จะมีลักษณะกลมเหมือนลูกบอล แต่ถ้าโค้งไม่เท่ากัน จะมีลักษณะเหมือนลูกรักบี้)

รูป 1 เปรียบเทียบ ทางเดินแสงของสายตาปกติและสายตาเอียง

ทำไมคนสายตาเอียงจึงมองไม่ชัดทั้งระยะใกล้และระยะไกล…….???

*** เนื่องจากผู้ที่สายตาเอียง มีการโฟกัสของแสงในลูกตาเป็นหลายจุดแทนที่จะเป็นจุดเดียวกันไม่ว่าจะมองใกล้หรือมองไกล ดังนั้นคนสายตาเอียงจึงไม่เคยเห็นภาพที่มีความคมชัดเต็มที่(ดังรูป 1)

 

รูป 2เปรียบเทียบกระจกตาที่มีความโค้งเท่ากันทุกแกน(ลูกบอล) และมีความโค้งไม่เท่ากันทุกแกน(ลูกรักบี้)

สายตาเอียงเกิดจากอะไร…..???

*** สายตาเอียงเกิดได้จากหลายปัจจัยเช่น

  • กระจกตามีกำลังหักเหแสงของสองแกนหลักไม่เท่ากัน(คือกระจกตาไม่เป็นทรงกลมแต่เป็นทรงรีเหมือนลูกรักบี้) (รูป2)
  • เลนส์ตามีกำลังหักเหแสงของสองแกนหลักไม่เท่ากัน(คือเลนส์ตามีความแบนในแต่และแนวไม่เท่ากัน)
  • จอตาเอียงหรือบิดเบี้ยว

โดยทุกปัจจัยล้วนแล้วแต่ทำให้แสงไม่โฟกัสเป็นจุดเดียวทั้งสิ้น อย่างไรก็ดีสาเหตุของสายตาเอียงมักเกิดจากกระจกตาเสียเป็นส่วนใหญ่ ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนของการเกิดสายตาเอียง แต่น่าจะเกิดจากหลายปัจจัยรวมกัน งานวิจัยล่าสุดยังพบว่า การเกิดสายตาเอียงอาจส่งผลให้เป็นสายตาสั้นตามมาด้วย

 

จะรู้ได้อย่างไรว่าตนเองสายตาเอียงรึป่าว ถ้าไม่ได้วัดสายตา…..???

*** อาจสังเกตได้จากปิดตาหนึ่งข้างและมองไปยังเส้นตรงในแนวรัศมีหลายๆเส้น คนสายตาไม่เอียง(สายตาสั้น ยาว หรือปกติ) จะมองเห็นเส้นทุกเส้นเข้ม(หรือจาง)เท่ากัน สำหรับคนสายตาเอียงจะมองเห็นเส้นทุกเส้นเข้มไม่เท่ากัน โดยมีบางเส้นเข้มบางเส้นอ่อน ถ้าท่านเห็นเส้นที่แนวองศาไหนเข้มที่สุด แสดงว่าสายตาท่านเอียงในแนวแกนนั้นหรือไม่ก็แนวตั้งฉากกับแกนนั้น(เช่นถ้าเห็นเส้นที่ 90 องศาเข้มที่สุด แสดงว่าสายตาเอียงที่ 90 หรือ 180 องศา)

อาจทำการทดสอบสายตาเอียงได้จาก “ทดสอบสายตาเอียงด้วยตนเอง”

 

 

ถ้าท่านเห็นเส้นทุกเส้นเข้มเท่ากัน อาจลองขยับตัวให้ห่างจอคอมพิวเตอร์มากขึ้น จะทำให้แยกความแตกต่างของเส้นเข้มหรือเส้นจางได้ดีขึ้น อย่าลืมปิดตาข้างที่ไม่ต้องการทดสอบด้วย(ทดสอบกับตาทีละข้างเท่านั้น ตาสองข้างไม่จำเป็นต้องเอียงเท่ากันหรือที่องศาเดียวกัน)

 

สายตาเอียงถ้าเป็นอยู่แล้วจะเป็นมากขึ้นหรือไม่……???

*** โดยปกติ สายตาเอียงมีแนวโน้มค่อนข้างคงที่เมื่อเทียบกับสายตาสั้นและสายตายาวที่มีการเปลี่ยนแปลงมากกว่า อย่างไรก็ดี พบว่าสายตาส่วนใหญ่ของเด็กจะเอียงในแนว 90 องศาและเมื่อโตขึ้นจะเปลี่ยนเป็นเอียง 180 องศา เมื่ออายุมากขึ้นอาจจะเปลี่ยนกลับไปเอียงที่แนว 90 องศาอีกครั้ง ส่วนค่ากำลังตาเอียงมักมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างน้อย ยกเว้นผู้ที่เป็นโรคกระจกตาโป่งพอง จะมีการเปลี่ยนของสายตาเอียงค่อนข้างรวดเร็วในระยะที่โรคกำลังลุกลาม

อ่านเพิ่มเติมรวมคำถาม “กระจกตาโป่งพอง”

 

สายตาเอียง มีวิธีแก้ไขอย่างไรบ้าง นอกจากการใส่แว่นตา……???

*** อาจแบ่งการแก้ไขสายตาเอียงออกเป็นสองวิธีหลักๆคือ

1.Noninvasive method วิธีที่ไม่ต้องผ่าตัด

◦แว่นตาในปัจจุบันมีเลนส์แว่นตาแก้สายตาเอียงให้เลือกหลากหลายแบบ ทั้งเลนส์ธรรมดา เลนส์แอสเฟียริก เลนส์ไฮอินเด็กสำหรับคนมีค่าสายตามาก หรือเลนส์กันกระแทกสำหรับเด็ก และมีทั้งแบบเคลือบกันรังสียูวี กันแสงสะท้อน(Anti Reflection) เลนส์เปลี่ยนสี ฯลฯ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านเลนส์เพื่อเลือกเลนส์ให้เหมาะกับการใช้งานของท่านที่สุด

◦คอนแทคเลนส์สำหรับสายตาเอียงชนิดนิ่ม (Soft Toric Contact Lens) สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการใส่แว่นตา ผู้ที่มีสายตาสองข้างต่างกันมาก ฯลฯ

◦คอนแทคเลนส์สำหรับสายตาเอียงชนิดแข็ง (Botoric Rigid Gaspermeable Contact Lens) สำหรับผู้ที่มีตาแห้งมาก ไม่สามารถใส่คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มได้ หรือผู้ที่มีกระจกตาบิดเบี้ยว หรือผู้ที่มีค่าสายตาเอียงมาก และมีกระจกตาเอียงด้วย

◦คอนแทคเลนส์ใส่นอนปรับกระจกตา(Orthokeratology Contact Lens) ใส่ตอนนอนและถอดตอนตื่นขึ้นมา ทำให้ไม่ต้องใส่คอนแทคเลนส์ในเวลากลางวัน สำหรับผู้ที่ตาแห้งมาก หรือผู้ที่มีกิจกรรมที่ไม่สะดวกในการใส่แว่นตาและคอนแทคเลนส์เช่นนักกีฬาบางประเภท แอร์โอสเตส นักดับเพลิง ตำรวจ นักเรียนเตรียมทหาร นักเรียนนายร้อย เป็นต้น การแก้สายตาเอียงของคอนแทคเลนส์ชนิดนี้ต้องดูความโค้งของกระจกตาประกอบด้วย

2.invasive วิธีการผ่าตัด นิยมใช้เมื่อมีค่าสายตามากๆ ถ้าสายตาเอียงเพียงเล็กน้อยไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากโดยปกติสายตามนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น

◦Lesik (Laser-assisted in situ keratomileusis) การผ่าตัดกระจกตาโดยใช้แสงเลเซอร์อย่างหนึ่ง มีการเปิดผิวกระจกตาด้านหน้าออก(Flap)เพื่อยิงเลเซอร์แก้ไขกระจกตาในชั้น Stroma เมื่อผ่าเสร็จแล้วจะมีการปิด Flap เข้าที่เดิมทำให้สามารถมองเห็นได้ดีขึ้นในทันทีหลังการรักษา แผลหายเร็วกว่าการทำ PRK

◦PRK (Photorefractive Keratectomy) เป็นการผ่าตัดกระจกตาโดยใช้แสงเลเซอร์อย่างหนึ่ง โดยมีการยิงเลเซอร์โดยตรงที่ผิวกระจกตาโดยไม่มีการเปิดFlap เหมือนการทำ Lasik หลังจากการทำแล้วจึงต้องใช้คอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษที่มีอ๊อกซิเจนผ่านสูง(Bandage Contact lens) ปิดกระจกตาไว้เนื่องจากไม่มี Flap แผลหายช้ากว่าLasik แต่ผลลัพธ์ที่สามเดือนไม่มีความแตกต่างกัน เหมาะกับคนที่มีสายตาเอียงสูง หรือคนที่ไม่ต้องการมีปัญหาเรื่อง Flap ที่อาจเกิดขึ้นได้หลังจากการทำ Lasik

◦ผ่าตัดฝังเลนส์เทียม มักใช้เมื่อค่าสายตามากเกินกว่าที่ Lasik หรือ PRK จะสามารถแก้ไขได้ ทำโดยการฝังเลนส์เทียมเข้าไปเพิ่มเติม เลนส์เทียมมีทั้งชนิดที่ใช้ทดแทนเลนส์เดิม(สำหรับคนที่ต้องการผ่าต้อกระจกอยู่แล้ว) และเลนส์ที่ฝังเข้าไปเพิ่มโดยไม่มีการนำเลนส์เดิมออก(สำหรับผู้ที่ต้องการรักษาสายตาเอียงสูงที่ไม่เป็นต้อกระจก)

 

สายตาเอียง เป็นแล้วอันตรายไหม ทำให้ตาบอดได้หรือไม่ ?สายตาเอียงมีข้อควรระวังอะไรบ้าง…..???

*** สายตาเอียงไม่ก่อให้เกิดอันตราย และไม่ทำให้ตาบอด อย่างไรก็ดีอถ้าสายตาเอียงมีการเปลี่ยนแปลงค่าอย่างรวดเร็ว อาจพาเด็กไปตรวจโรคกระจกตาโป่งพอง (อ่านเพิ่มเติม “รวมคำถามกระจกตาโป่งพอง”

 

สำหรับเด็กที่มีสายตาเอียงเกินกว่า -3.00 D ขึ้นไปมีความเสี่ยงในการเป็นตาขี้เกียจ (Amblyopia, Lazy eye) ดังนั้นผู้ปกครองทุกท่านควรนำบุตรหลานไปรับการตรวจตาจากเมื่อเด็กอายุได้ 6 เดือนถึงหนึ่งปี เพื่อคัดกรองว่ามีปัญหาโรคตาหรือสายตาหรือไม่ ถ้ามีปัญหาสายตาหรือโรคตาจะได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงทีเนื่องจากตาขี้เกียจจะรักษาได้ผลดีที่สุดที่อายุไม่เกิน 6 ปี (อ่านเพิ่มเติม “รวมคำถาม ตาขี้เกียจ”

 

รู้สึกว่ามองไกลบางครั้งชัด บางครั้งไม่ชัด สาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้างค่ะ เกิดจากตาเอียงหรือเปล่าคะ……???

*** การเปลี่ยนแปลงของสายตาแบบเป็นๆหายๆ เดี๋ยวมัวเดี๋ยวชัดไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับสายตาเอียง เนื่องจากการเป็นสายตาเอียงจะทำให้เห็นภาพมัวตลอดเวลา อนึ่งการเห็นภาพเดี๋ยวมัวเดี๋ยวชัดอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ต้องลองสังเกตดูนะครับว่าตนเองเข้าข่ายอันไหนบ้าง สาเหตุที่พอจะนึกออกมีดังนี้ครับ

  • เกิดจากโรคบางโรค เช่นโรคเบาหวาน เมื่อระดับน้ำตาลในกระแสเลือดเปลี่ยนแปลงสามารถส่งผลให้ค่าสายตาเปลี่ยนแปลงได้ด้วย ค่าสายตาที่เปลี่ยนไปเป็นได้ทั้งสั้นมากขึ้นหรือสั้นน้อยลง(ในทำนองเดียวกัน อาจเปลี่ยนเป็นยาวน้อยลงหรือยาวมากขึ้นได้ด้วย) อนึ่งถ้าท่านเป็นโรคเบาหวานควรคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือดไม่ให้เปลี่ยนแปลงมากเกินไป และได้รับการตรวจจอตาเป็นประจำเพื่อเฝ้าระวังโรคเบาหวานขึ้นตา ซึ่งอาจทำให้ตาบอดได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องครับ
  • เกิดจากยาบางชนิด เช่น กลุ่มยาขับปัสสาวะ ยากลุ่มซัลฟา ยากันชัก ยารักษาต้อหินบางชนิด ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อให้ทราบว่ายาที่ท่านใช้อยู่มีผลข้างเคียงดังกล่าวหรือไม่
  • เกิดจากการใช้สายตาระยะใกล้เป็นเวลานานทำให้มีการเพ่งค้าง (Accommodation Spasm) อาการนี้จะทำให้ท่านมองไกลไม่ชัด มักเป็นหลังจากที่มีการมองระยะใกล้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาการอาจหายไปเองได้ภายในไม่กี่นาทีหรืออาจอยู่นานหลายวัน ไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด สามารถป้องกันได้โดยไม่ทำงานระยะใกล้ติดต่อกันนานเกินไป ควรพักสายตาเพื่อมองระยะไกลบ้างอย่างน้อยชั่วโมงละ 3-5 นาทีเพื่อคลายกล้ามเนื้อตาและการเพ่ง
  • สายตาสั้นตอนกลางคืน (Night Myopia) ลองสังเกตว่าตอนที่มองไกลไม่ชัดมักเกิดเวลากลางคืนหรือในสภาวะแสงน้อยหรือไม่ ถ้าใช่แสดงว่าท่านอาจมีสายตาสั้นเวลากลางคืนซึ่งเกิดจากการที่รูม่านตาขยายใหญ่ ทำให้แสงที่ผ่านกระจกตาบริเวณที่ห่างจากจุดกึ่งกลางตาดำสามารถเข้าสู่ดวงตาได้มากขึ้น กระจกตาบริเวณดังกล่าวมีกำลังหักเหมากกว่ากระจกตาบริเวณกึ่งกลางตาดำ ทำให้แสงโฟกัสก่อนจอตาและมองเห็นไม่ชัดได้ ในกรณีนี้อาจต้องหาแว่นสายตาที่มีกำลังเลนส์ลบมากขึ้นมาใส่ตอนกลางคืนขณะที่ต้องใช้สายตาระยะไกล เช่น  เวลาขับรถเป็นต้น