การเลือกแว่นกันแดด[AT029]

แว่นกันแดด มีหลักการเลือกอย่างไร

ขออนุญาตไม่พูดถึงการเลือกแว่นให้เข้ากับใบหน้าแต่จะเน้นที่ประโยชน์การใช้งานครับ

1.สำคัญที่สุด อันดับแรกแว่นกันแดดควรป้องกันรังสียูวีครับ โดยควรป้องกันรังสี UVA และ UVB ได้ 100% อย่าเชื่อคนขายหรือสติกเกอร์ที่ติดที่แว่นตาครับ แนะนำให้เชื่อเครื่องทดสอบการป้องกันรังสียูวี ร้านไหนไม่มีเครื่องทดสอบ ถ้าอยากซื้อจริงๆก็ต้องเสี่ยงดวงดูครับ

2.เลือกแว่นที่มีความทึบแสงพอสมควรเพื่อป้องกันแสงอาทิตย์ที่สว่างมาก การเลือกอาจสังเกตจากเมื่อท่านมองกระจกไม่ควรเห็นดวงตาของตนเอง

3.เลือกสีที่ไม่ทำให้การมองเห็นสีเพี้ยนสีที่ควรเลือกคือสีเทา น้ำตาล และเขียว ไม่ควรเลือกสีแดงหรือสีน้ำเงินเพราะจะทำให้เห็นสีเพี้ยนค่อนข้างมากและสีน้ำเงินอาจยังให้รังสียูวีผ่านเข้าสู่ดวงตาได้ด้วย

4.ถ้าท่านมีกิจกรรมกลางแดดเป็นเวลานาน แนะนำให้ใช้แว่นที่ป้องกันแสงจากด้านข้างด้วย เลือกแว่นให้เข้ากับรูปหน้า ถ้าแว่นโอบรอบดวงตาและแนบสนิทกับผิวหนังเลยจะดีมากเพื่อป้องกันรังสียูวีที่จะเข้าสู่ดวงตาทางอื่น เช่นจากทางด้านบนถ้ามีพื้นที่เหลือระหว่างโหนกคิ้วกับแว่นตา หรือจากทางด้านข้างถ้าขาแว่นมีขนาดเล็ก อนึ่งการใส่แว่นตาที่กรอบมีความโค้งสูงเช่นแว่น Oakley อาจทำให้ท่านรู้สึกมึนงงได้ในระยะแรก ถ้ารู้สึกงงไม่มากท่านจะปรับตัวได้และอาการงงจะหายไปหลังจากใช้ไปสักพัก(1-2 สัปดาห์) แต่ถ้ารู้สึกงงมากท่านอาจไม่เหมาะกับแว่นชนิดที่มีกรอบโค้งมากๆพวกนี้

5.เลือกแว่นที่มีน้ำหนักเบา ทำให้ใส่สบายเมื่อต้องใส่เป็นระยะเวลานาน

6.ถ้าเลนส์แว่นตาทำจากวัสดุโพลีคาร์บอเนต จะทำให้เลนส์มีคุณสมบัติกันกระแทกและแตกยากด้วย สำหรับคนที่มีกิจกรรมผาดโผน หรือมีความเสี่ยงที่จะได้รับอุบัติเหตุทางตาเช่นนักกีฬา

7.ถ้าท่านชอบกิจกรรมทางน้ำ ชอบไปทะเล ลงเรือ แนะนำให้ใช้เลนส์ที่มีโพลาไรซ์ฟิลเตอร์ จะช่วยตัดแสงสะท้อนที่ผิวน้ำได้มาก ถ้าได้ลองแล้วท่านจะไม่อยากใส่เลนส์ชนิดอื่นไปทะเลอีกเลย

8.โดยส่วนตัวผู้เขียนชอบใช้เลนส์ที่มี โพลาไรซ์ฟิลเตอร์ จะช่วยลดแสงสะท้อนได้มากโดยเฉพาะอย่างยิ่งแสงสะท้อนจากผิวน้ำหรือพื้นถนน แต่ข้อเสียของเลนส์ชนิดนี้คืออาจทำให้มองเห็นกระจกรถเป็นสีรุ้งได้ ถ้าจะซื้อแว่นชนิดนี้แนะนำให้ขอไปลองใส่ในรถที่ขับประจำดูก่อน เพราะบางคนอาจรู้สึกรำคาญสีรุ้งที่เห็นและไม่ชอบแว่นชนิดนี้ จะได้ไม่เสียเงินเปล่าครับ

9.อาจทดสอบเลนส์โดยการถือแว่นและยืดแขนให้สุด มองผ่านเลนส์ไปยังเส้นตรง ถ้าเห็นเส้นตรงบิดเบี้ยว(ทั้งๆที่เลนส์ไม่มีค่าสายตา) นั่นอาจแสดงว่าเลนส์แว่นตาอันนั้นไม่ได้มาตรฐาน ใส่แล้วอาจงงหัว

แว่นกันแดดจำเป็นต้องกันยูวีหรือไม่

จำเป็นที่สุดเลยครับ เพราะว่าการใส่แว่นตากันแดดที่ไม่กันรังสียูวี กลับเป็นอันตรายต่อดวงตากว่าการไม่ใส่แว่นตากันแดดเสียอีก เนื่องจากเมื่อเราใส่แว่นตากันแดดแล้วจะทำให้รูม่านตาเราขยายใหญ่ขึ้น ถ้าแว่นกันแดดของเราไม่กันรังสียูวี จะทำให้แสงยูวีที่เป็นอันตรายเข้าสู่ดวงตาได้มากกว่าตอนไม่ใส่แว่น เนื่องจากถ้าไม่ใส่แว่นกันแดดรูม่านตาจะเล็ก แสงยูวีที่เข้าสู่ดวงตาจะทำให้เราเป็นต้อกระจกเร็วขึ้น และมีความเสี่ยงต่อโรคจอตาเสื่อมมากขึ้นครับ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองไทยที่เป็นเมืองร้อนและมีแสงแดดค่อนข้างแรงเนื่องจากอยู่ใกล้แนวเส้นศูนย์สูตร

จะทราบได้อย่างไรว่าแว่นกันแดดอันไหนกันยูวี

จะให้แน่ใจจะต้องนำแว่นตากันแดดอันนั้นไปวัดกับเครื่องทดสอบการป้องกันรังสียูวีโดยเฉพาะตามร้านแว่นตาครับ หรือถ้าจะเอาให้ละเอียดกว่านั้นก็วัดกับเครื่อง UV-Vis Spectrophotometer ตามห้องแลบวิทยาศาสตร์ใหญ่ๆ แต่ก็ไม่จำเป็นขนาดนั้นครับ แค่เครื่องมือตามร้านแว่นก็พอแล้ว ไม่อยากให้เชื่อสติกเกอร์ที่แปะว่า UV100% หรือ  UV 400 ครับ

แว่นกันแดดที่ติดสติกเกอร์ว่า UV 400 คืออะไร

จริงๆแล้วคำว่า UV400 หมายความว่าแว่นตาอันนั้นสามารถป้องกันรังสียูวีถึงความยาวคลื่นสูงสุดคือ 400 นาโนเมตรซึ่งนับว่าเป็นแว่นที่กันรังสียูวีได้ดี อย่างไรก็ดีในปัจจุบันจากการนำแว่นตากันแดดที่ขายตามท้องตลาดมาทดสอบ พบว่าบางอันแม้ติดสติกเกอร์ว่า UV400 แต่ก็ยังให้แสงยูวีผ่านได้ ดังนั้นจึงไม่สามารถเชื่อถือสติกเกอร์ที่ติดว่า UV400 ที่แว่นตาได้

แว่นกันแดดที่ติดสติกเกอร์ว่า UV 100% แปลว่าอะไร

คำว่าUV100% ก็น่าจะมีความหมายว่าแว่นตาอันนั้นสามารถป้องกันรังสียูวีได้ 100% ซึ่งนับว่าเป็นแว่นที่กันรังสียูวีได้ดี อย่างไรก็ดีในปัจจุบันจากการนำแว่นตากันแดดที่ขายตามท้องตลาดมาทดสอบ พบว่าบางอันแม้ติดสติกเกอร์ว่า UV100% แต่ก็ยังให้แสงยูวีผ่านได้ ดังนั้นจึงไม่สามารถเชื่อถือสติกเกอร์ที่ติดว่า UV100% ที่แว่นตาได้

แว่นตาธรรมดาสามารถกันรังสียูวีได้ไหม

จะกันได้หรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับชนิดของวัสดุที่ทำเลนส์และการเคลือบป้องกันรังสียูวีครับ วัสดุที่ใช้ทำเลนส์บางชนิดเช่นโพลีคาร์บอเนต มีคุณสมบัติป้องกันรังสียูวีอยู่ในเนื้อวัสดุอยู่แล้ว แต่เลนส์บางชนิดป้องกันรังสียูวีได้ไม่ดี ต้องมีการเคลือบป้องกันรังสียูวีต่างหาก ซึ่งท่านสามารถสั่งร้านแว่นตาให้เคลือบป้องกันรังสียูวีเพิ่มเข้าไปได้

แว่นสายตาใสๆ เลนส์ไม่มีสีดำ สามารถกันรังสียูวีได้ไหม

บางชิ้นอาจกันได้ครับขึ้น เลนส์ใสบางชิ้นอาจกันรังสียูวีได้ แต่เลนส์ดำบางชิ้นอาจกันรังสียูวีไม่ได้ เนื่องจากเราไม่สามารถเห็นรังสียูวีได้ด้วยตาเปล่า ที่เราเห็นเป็นสีใสหรือดำคือเราเห็นแสงขาวครับ ดังนั้นที่เราเห็นเลนส์สีใสหรือสีดำจึงไม่เกี่ยวข้องกับการป้องกันรังสียูวี

เลนส์แว่นกันแดดมีกี่ชนิด แต่ละชนิดมีคุณสมบัติอย่างไร

เท่าที่นึกออกมีดังนี้ครับ

1.เลนส์กันแดดแบบย้อมสีในเนื้อเลนส์ คือเลนส์สีใสที่ถูกย้อมสีเลนส์ให้เข้มเพื่อให้มีแสงเข้าสู่ดวงตาน้อยลง คุณสมบัติการยอมให้แสงผ่านขึ้นกับสีที่ใช้ย้อม เช่นถ้าย้อมด้วยสีดำป้องกันทุกเฉดสีเท่าๆกัน ถ้าย้อมด้วยสีเหลืองจะป้องกันแสงสีช่วงความยาวคลื่นสั้นเช่นสีน้ำเงินม่วงได้ดีและให้แสงช่วงความยาวคลื่นสีเลืองผ่านได้มาก เลนส์แว่นกันแดดส่วนใหญ่ตามท้องตลาดมักเป็นชนิดนี้

2.เลนส์กันแดดโพลาไรซ์ ฟิลเตอร์ เป็นเลนส์ที่มีการใส่ชั้นฟิล์มโพลาไรซ์เข้าไปในเนื้อเลนส์ ชั้นฟิล์มดังกล่าวจะมีแนวแกนโพลาไรซ์ที่แนวตั้ง( 90 องศา)และจะไม่ยอมให้แสงที่มีแกนโพลาไรซ์ในแนวนอน(180 องศา) ผ่าน ซึ่งแสงสะท้อนส่วนใหญ่เช่นแสงสะท้อนจากผิวน้ำหรือพื้นถนนมักมีแกนโพลาไรซ์แนวนอน ทำให้เลนส์ชนิดนี้มีคุณสมบัติพิเศษในการตัดเฉพาะแสงสะท้อนออกไปได้โดยไม่ตัดแสงที่ดีออกไป ข้อดีของเลนส์ชนิดนี้อีกอย่างนอกจากการตัดแสงสะท้อนแล้วยังทำให้มองเห็นสีสันได้สดใสกว่าเมื่อเทียบกับเลนส์กันแดดชนิดอื่น ส่วนข้อเสียคือการเห็นสีรุ้งที่กระจกโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระจกรถยนต์ที่เป็นกระจกนิรภัย

3.เลนส์กันแดดฉาบปรอท เป็นเลนส์ย้อมสีชนิดเดียวกันกับเลนส์ในข้อ 1 แต่มีการเคลือบผิวเลนส์เพิ่มด้วยโลหะบางชนิดเพื่อให้เลนส์มีลักษณะคล้ายกระจกเงา เลนส์ชนิดนี้มีข้อดีคือสามารถปกปิดดวงตาของผู้ใส่ทำให้ผู้อื่นไม่สามารถเห็นได้ว่าผู้ใส่แว่นกำลังมองอะไรอยู่ ข้อเสียของเลนส์ชนิดนี้คือผิวปรอทค่อนข้างเปราะบางและเสียหายง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าโดนไอทะเล

4.เลนส์กันแดดแบบเปลี่ยนสี คือเลนส์ใสที่มีการเคลือบสารหรือใส่สารที่สามารถเปลี่ยนสีได้ลงไปในเนื้อเลนส์ สารที่ใส่ลงไปมีคุณสมบัติเปลี่ยนเป็นสีเข้มเมื่อได้รับรังสียูวีและคืนความใสได้เมื่อไม่มีรังสียูวี ทำให้เลนส์แว่นมีสีใสเมื่ออยู่ในที่ร่มและเปลี่ยนเป็นสีเข้มเมื่ออยู่กลางแจ้ง อย่างไรก็ดีสำหรับการขับรถเลนส์ชนิดนี้อาจเปลี่ยนสีได้ไม่เข็มเต็มที่เนื่องจากกระจกรถป้องกันรังสียูวีบางส่วนไว้ เลนส์ชนิดนี้จะเปลี่ยนสีได้เข้มสุดเมื่อรังสียูวีมีความเข้มสูงและในอุณหภูมิต่ำ(เช่นบนยอดเขาที่มีหิมะปกคลุม) เหมาะกับผู้ที่ทำงานในที่ร่มสลับกับกลางแจ้งและไม่ต้องการพกแว่นตาหลายอัน

แว่นกันแดด ขาเล็กหรือขาใหญ่ดี

ดีไปคนละแบบครับ ขาเล็กส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักเบา ส่วนขาใหญ่สามารถป้องกันแสงยูวีจากทางด้านข้างได้ด้วยครับ แถมยังแฟชั่นอีกต่างหาก ถ้าอยากได้ขาใหญ่ควรเลือกที่น้ำหนักเบาหน่อยเวลาถอดจะได้ไม่มีรอยที่ดั้งจมูกครับ

แว่นกันแดดกรอบโค้งเข้ากับรูปหน้า ใส่แล้วสวย แต่ทำไมงงหัว

อาการงงหัวเกิดจากการเห็นภาพที่มีการบิดเบือนซึ่งเป็นธรรมชาติของการใส่เลนส์ที่มีความโค้งสูง (จะเท่ห์ก็ต้องทนนิดนึง) ถ้าอาการงงหัวเป็นไม่มากมักจะดีขึ้นและหายไปภายในไม่เกิน สองสัปดาห์ครับ แต่บางคนอาจทนกับความมึนนั้นไม่ได้ก็ไม่เหมาะกับการใส่แว่นโค้งมากครับ

อยากใส่แว่นกรอบโค้งแต่มีค่าสายตา มีเลนส์สายตาสำหรับกรอบโค้งไหม

มีครับ แต่ต้องทำใจกับอาการงงหัว ยิ่งท่านมีค่าสายตาสูงจะทำให้ท่านยิ่งมีอาการงงหัวได้ง่ายขึ้น ปัจจุบันบางบริษัทมีเทคโนโลยีที่ช่วยแก้ไขความบิดเบือนของเลนส์โค้ง ทำให้ลดอาการงงหัวลงและสามารถทำเลนส์สายตาได้ถึงโค้ง 8 ครับ