สิ่งที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับสายตา[AT018]

มองเห็นได้ชัดเจนดี แสดงว่าไม่มีโรคตา….???

ไม่จริงครับ มีโรคตาหลายโรคที่เป็นแล้วยังสามารถมองเห็นได้ชัดเจนดีอยู่ในระยะแรก แต่ต่อมาอาจทำให้ตาบอดได้ อนึ่งความชัดเจนในการมองเห็นจะเกี่ยวข้องกับศูนย์กลางการมองเห็นของจอตา( Macula) ซึ่งจะไม่เกี่ยวข้องกับการมองเห็นส่วนริมๆจอตา ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคบางโรคเช่นต้อหิน ในช่วงแรกที่เป็นจะยังสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนอยู่เนื่องจากโรคมักจะส่งผลต่อจอตาส่วนริมๆเป็นอันดับแรก และเมื่อโรคมีความรุนแรงมากแล้วจึงส่งผลต่อจอตาส่วนศูนย์กลางการมอเห็น ดังนั้นการที่เข้าร้านแว่นแล้วท่านสามารถอ่านตัวหนังสือตัวเล็กที่สุดได้ตามมาตรฐาน ไม่ได้บอกว่าท่านปลอดภัยต่อโรคตาครับ ดังนั้นท่านควรได้รับการตรวจสุขภาพตาตามกำหนดตามแต่ละช่วงอายุ หรือตามที่แพทย์นัดครับ

ตาไม่เจ็บไม่ปวด แสดงว่าไม่มีโรคตา…….???

ไม่จริงครับ มีโรคตามากมายที่สร้างปัญหาได้โดยไม่ทำให้ท่านรู้สึกเจ็บปวด เนื่องจากบางส่วนของอวัยวะภายในลูกตาไม่มีหน่วยรับความรู้สึก ดังนั้นเมื่อเกิดความบาดเจ็บขึ้นกับอวัยวะนั้นท่านจะไม่รู้สึกถึงความเจ็บปวด(คล้ายกับการฉีดยาชาซึ่งไประงับการทำงานของหน่วยรับความรู้สึกนั่นเอง ทำให้ท่านไม่รู้สึกเจ็บปวดขณะถูกถอนฟัน) ดังนั้นมีโรคตาหลายอย่างที่เมื่อเป็นแล้วท่านจะไม่รู้สึกถึงความเจ็บปวด บางโรคซ้ำร้ายไม่ทำให้ท่านเห็นแย่ลงหรือมัวลงจนกระทั่งโรคมีความรุนแรงมากแล้ว ดังนั้นถ้าท่านรู้สึกว่ามีความเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพตาและการมองเห็นเช่น ตามัว มีขี้ตามาก น้ำตาไหลมาก ตาแดง สู้แสงไม่ได้ เห็นภาพบิดเบี้ยว เห็นเหมือนฟ้าแลบ เห็นเงาดำคล้ายใยแมงมุม ฯลฯ อย่านิ่งนอนใจ เนื่องจากอาการบางอย่างสามารถทำให้ท่านตาบอดได้อย่างรวดเร็วถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องครับ

อ่านเพิ่มเติม “อาการตามัว เกิดจากอะไร อันตรายไหม”

ยาหยอดตาทุกชนิด สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย ไม่มียาหยอดตาชนิดไหนที่ทำให้ตาบอดได้…..???

ไม่จริงครับ มียาหยอดตาบางชนิดโดยเฉพาะ “สเตียรอยด์” ที่ใช้สำหรับรักษาตาแดงหรือตาอักเสบในบางกรณี เมื่อใช้ระยะยาวยาจะมีผลเสียทำให้ความดันลูกตาสูงขึ้นและเป็นต้อหินได้ ดังนั้นการใช้ยาทุกชนิดรวมถึงยาหยอดตา

ควรได้รับคำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด ไม่ควรซื้อยามาใช้เองโดยไม่ไปพบแพทย์ครับ

นอกจากนี้ ยาหยอดตาหลายชนิดสามารถส่งผลต่อระบบอื่นๆของร่างกายได้ เนื่องจากหลังจากหยอดตาแล้วยาจะถูกระบายออกจากดวงตาผ่านรูระบายน้ำตาเข้าสู่โพรงจมูกซึ่งมีเส้นเลือดเล็กๆมากมาย ยาจำนวนหนึ่งจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดที่นี่ ทำให้ยาหยอดตาสามารถส่งผลต่อระบบอืื่นๆได้เช่นกัน

 

อ่านเพิ่มเติม “เพชราเปิดใจ ยอมเผยโฉมออกจากโลกมืด”

ตาบอดคือดวงตามองไม่เห็นอะไระเลยเท่านั้น…..???

คนทั่วไปมักเข้าใจว่าการตาบอดคือการที่เรามองไม่เห็นอะไรเลยเหมือนกับการที่เราเอามือปิดตา แต่ตามกฏหมายแล้วคนที่พอมองอะไรเห็นบ้างก็จัดให้อยู่ในกลุ่มคนที่ตาบอดตามกฏหมายได้เหมือนกัน

การจำแนกสภาวะตาบอดทางการแพทย์ มักจะดูจากสององค์ประกอบหลักคือ ความชัดเจนในการมอง

เห็น(Visual Acuity) และความกว้างในการมองเห็น(ลานสายตา Visual Field) โดยทั่วไปถือว่าคนที่มีความชัดเจนในการมองเห็นแย่กว่า 20/200 หลังจากได้รับการแก้ไขปัญหาสายตาแล้ว(เมื่อแก้ไขปัญหาสายตาแล้ว อ่านตัวหนังสือ E ความสูง 8.71เซนติเมตรที่อยู่ห่างจากตา 6 เมตรไม่ออก) หรือผู้ที่มีลานสายตาแคบกว่า 20 องศา จัดเป็นคนตาบอด ซึ่งทั้งสองสภาวะนี้ ผู้ที่ตาบอดอาจยังสามารถเดินหรือช่วยตัวเองได้ อ่านพาดหัวหนังสือพิมพ์ได้ และมองเห็นสิ่งของขนาดใหญ่ๆได้ อย่างไรก็ดี การให้ความหมายของคนตาบอดในแต่ละประเทศยังมีความแตกต่างกัน และยังมีการแยกย่อยเป็นระดับต่างๆอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “ตาบอด” ได้ใน “ความบกพร่องทางการเห็น”

 

http://www.krabispecialeducation.org/spacail1.html

 

ใส่แว่นแล้วสายตาจะสั้นมากขึ้น จริงหรือไม่……..???

ไม่จริงครับ แต่บางคนเมื่อใส่แว่นแล้วสังเกตว่าต้องเปลี่ยนแว่นบ่อย เนื่องจากเมื่อใส่แว่นแล้ว จะทำให้เห็นได้ชัดเจนขึ้น และสังเกตถึงการเปลี่ยนแปลงของค่าสายตาได้ง่ายขึ้นครับ ยกตัวอย่างเช่น คนสายตาสั้น 2.00 ไดออปเตอร์ที่ไม่ใส่แว่น แม้ค่าสายตาจะเปลี่ยนเป็นสั้น 2.50 ไดออปเตอร์ ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าสายตาของตนเองสั้นลง เนื่องจากภาพที่มองเห็นระยะไกลของทั้งสองค่าสายตา แทบไม่แตกต่างกัน แต่ถ้าคนสายตาสั้น 2.00 ไดออปเตอร์ที่ใส่แว่นมีค่าสายตาเปลี่ยนไปเป็นสั้น 2.50 ไดออปเตอร์ จะสามารถสังเกตเห็นได้ทันทีว่าตนเองสายตาสั้นเพิ่มขึ้นเนื่องจาก ก่อนค่าสายตาเปลี่ยน สามารถมองเห็นได้ชัดทุกระยะตั้งแต่ระยะไกลถึงระยะใกล้ แต่เมื่อค่าสายตาเปลี่ยน จะสามารถมองเห็นได้ชัดเจนเมื่อวัตถุอยู่ห่างจากตาไม่เกิน 2 เมตรเท่านั้น ทำให้สามารถบอกได้ทันทีว่าค่าสายตาเปลี่ยน

 

ค่าที่ได้จากการวัดโดยคอมพิวเตอร์ สามารถนำมาตัดแว่นได้เลยจริงหรือไม่……???

ไม่จริงครับ ค่าสายตาจากคอมพิวเตอร์ เป็นเพียงค่าโดยประมาณเท่านั้นซึ่งต้องมีการกระบวนการตรวจอย่างละเอียดอีกหลายขั้นตอนเพื่อให้ได้ค่าสายตาที่ถูกต้องและใส่แล้วสบายตา

อ่านเพิ่มเติมได้ที่

“ตรวจสายตาด้วยคอมพิวเตอร์ ค่าเชื่อถือได้แค่ไหน”

“ขั้นตอนการวัดสายตา”

 

แว่นกันแดดสีดำ สามารถกันรังสียูวีได้ทุกอัน……???

ไม่จริงครับ แว่นตาที่มีเลนส์สีดำทุกอันไม่ได้ป้องกันรังสียูวี และแว่นตาที่มีเลนส์ใสบางอันป้องกันรังสียูวีได้ เนื่องจากเรามองไม่เห็นรังสียูวี ดังนั้นแว่นตาที่มีเลนส์สีดำคือแว่นตาที่ยอมให้แสงขาวผ่านได้น้อยนั่นเอง ซึ่งไม่เกี่ยวกับการให้รังสียูวีผ่าน

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม “การเลือกแว่นตากันแดด”

 

ตอนเที่ยงๆในวันที่มีเมฆมาก เมื่อออกกลางแจ้งแล้วไม่ร้อนแสดงว่าไม่มีรังสียูวี…..???

ไม่จริงครับ เนื่องจากรังสีที่ทำให้เรารู้สึกร้อนคือรังสีอินฟราเรด รังสียูวีไม่ทำให้รู้สึกร้อนแต่ทำให้ผิวคล้ำและไหม้ครับ ลองสังเกตดูว่าในวันที่มีเมฆมากเมื่อออกกลางแดดแล้วไม่ร้อน แต่ตากแดดสักพักจะเห็นได้ว่าผิวเราในส่วนที่โดนแดดจะคล้ำขึ้นได้เหมือนกัน

อ่านเพิ่มเติม รวมคำถาม “อันตรายจากรังสียูวี”

 

คอนแทคเลนส์คือสิ่งช่วยในการมองเห็นชนิดหนึ่งซึ่งสามารถซื้อขายกันได้อย่างเสรีดังเช่นแว่นตา…….???

ไม่จริงครับ ในประเทศไทย คอนแทคเลนส์จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ควบคุม(เครื่องมือแพทย์ประเภท 1 ซึ่งเป็นระดับที่มีการควบคุมสูงสุด) โดยเครื่องมือแพทย์ทุกชนิดอยู่ภายใต้การดูแลของ กองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)

เนื่องจากคอนแทคเลนส์เป็นอุปกรณ์ที่ต้องสัมผัสกับดวงตาโดยตรง ซึ่งการใช้ผิดวิธีอาจเป็นอันตรายต่อดวงตาถึงขั้นทำให้ตาบอดได้ ดังนั้นในหลายประเทศจึงมีกฏหมายควบคุมการใช้คอนแทคเลนส์อย่างเคร่งครัด เช่นในสหรัฐอเมริกา ผู้ที่จะซื้อคอนแทคเลนส์ต้องมีใบสั่ง(คล้ายใบสั่งยา) ซึ่งออกโดยนักทัศนมาตรหรือจักษุแพทย์ จึงจะซื้อคอนแทคเลนส์ได้ โดยใบสั่งมีอายุ 1 ปี เมื่อหมดอายุแล้วต้องไปรับการตรวจสายตาและสุขภาพตาใหม่เพื่อให้ได้ใบสั่งใหม่ ผู้ขายและผู้ซื้อคอนแทคเลนส์โดยไม่มีใบสั่งมีความผิดตามกฏหมายและมีการบังคับใช้กฏหมายกันอย่างจริงจัง

สำหรับประเทศไทย มีกฏหมายเกี่ยวกับการซื้อขายและประกอบคอนแทคเลนส์เช่นเดียวกันโดยผู้ที่มีหน้าที่โดยตรงในการประกอบคอนแทคเลนส์คือนักทัศนมาตรและจักษุแพทย์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจำนวนบุคลากรดังกล่าวยังมีจำนวนไม่มากนัก จึงยังไม่มีการบังคับใช้กฏหมายกันอย่างจริงจัง ทำให้มีการซื้อขายกันอย่างเสรีโดยไม่มีการตรวจสุขภาพตาหรือแนะนำการใช้งานอย่างถูกต้องเท่าที่ควร ดังนั้นผู้บริโภคจึงต้องทำหน้าที่ดูแลตนเอง เท่าที่ทราบในแต่ละวันมีจำนวนผู้ป่วยนอกมากมายมาพบจักษุแพทย์เนื่องจากปัญหาการใช้คอนแทคเลนส์ไม่ถูกต้อง และในทุกปีมีคนตาบอดเนื่องจากการใช้คอนแทคเลนส์โดยไม่มีความรู้ความเข้าใจในการใช้งานเท่าที่ควร อนึ่งถ้าผู้ใช้คอนแทคเลนส์มีความรู้ความเข้าใจในการใช้งานแล้วจะมีโอกาสเกิดอันตรายกับดวงตาจากการใช้คอนแทคเลนส์น้อยมาก

 

คอนแทคเลนส์ที่วางขาย เป็นคอนแทคเลนส์ Free size ที่สามารถใส่ได้พอดีกับดวงตาของทุกคน……???

ไม่จริงครับ ไม่มีคอนแทคเลนส์ชิ้นไหนในโลกที่ Free size โดยขนาดของคอนแทคเลนส์จะระบุไว้สองอย่างคือ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง(เช่น “Dia 14.2 คือคอนแทคเลนส์ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 14.2 มิลลิเมตร) และความโค้งของผิวเลนส์ด้านหลัง(เช่น BC 8.4 คือรัศมีความโค้งของผิวเลนส์ด้านหลังเป็น 8.4 มิลลิเมตร) ดวงตาของแต่ละคนมีความโค้งของผิวกระจกตาไม่เท่ากัน และคอนแทคเลนส์แต่ละรุ่น แต่ละยี่ห้อก็มีค่าความโค้งของผิวเลนส์ด้านหลังไม่เท่ากันด้วย ผู้ที่สามารถบอกได้ว่าคอนแทคเลนส์รุ่นไหนเหมาะกับท่านหรือไม่คือนักทัศนมาตรหรือจักษุแพทย์ครับ การใส่คอนแทคเลนส์ที่ไม่เหมาะสมกับดวงตาอาจทำให้เกิดปัญหาตาระคายเคืองและติดเชื้อที่ดวงตาง่ายขึ้นได้

อ่านเพิ่มเติม “รวมคำถาม คอนแทคเลนส์)

 

การทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ด้วยน้ำยาทำความสะอาดที่เขียนข้างกล่องว่า “No Rub” แสดงว่าไม่จำเป็นต้องถูคอนแทคเลนส์ แค่แช่อย่างเดียวก็สะอาดได้……???

ไม่จริงครับ การทำความสะอาดคอนแทคเลนส์เปรียบได้กับการล้างจาน เนื่องจากเมื่อเราใช้แล้วคอนแทคเลนส์จะมีคราบโปรตีนและคราบไขมันสะสมอยู่ที่ตัวเลนส์ ดังนั้นการทำความสะอาดคอนแทคเลนส์โดยไม่ได้ถู ก็เปรียบเหมือนเราล้างจานโดยการแช่จานในน้ำยาล้างจานและยกขึ้นมาเลยซึ่งยังจะมีคราบสกปรกติดจานอยู่เป็นจำนวนมาก คำว่า “No Rub” ที่ขวดน้ำยาคอนแทคเลนส์ถ้าจะล้างคอนแทคเลนส์ให้สะอาดอาจต้องใช้น้ำยาเป็นจำนวนมากเพื่อฉีดทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ ซึ่งคงไม่มีใครทำอย่างนั้นเพราะว่าจะต้องสิ้นเปลื่องน้ำยาเป็นจำนวนมากนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม “รวมคำถาม คอนแทคเลนส์”

 

เบาหวานขึ้นตาแล้ว ตาต้องบอดทุกคน…….???

ไม่จริงครับ เนื่องจากเบาหวานขึ้นตามีความรุนแรงของโรคที่หลากหลาย ซึ่งถ้าเพิ่งเริ่มเป็นและได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจากจักษุแพทย์ ก็จะสามารถป้องกันไม่ให้ตาบอดได้ แต่ถ้าปล่อยไว้จนกระทั่งตาบอดไปนานแล้ว ก็จะไม่สามารถรักษาให้กลับมามองเห็นได้แน่นอน และถ้าในกรณีที่ตาเพิ่งบอดอย่ายฉับพลัน การไปหาจักษุแพทย์ในทันที(ไม่เกิน 24 ชั่วโมง) อาจช่วยให้ตาที่บอดไปแล้วกลับมามองเห็นได้บ้าง(เช่นจอตาที่เพิ่งหลุดลอก หรือเลือดออกในลูกตาจนบดบังการมองเห็น เป็นต้น) ดังนั้นผู้ที่เป็นเบาหวานทุกท่านควรได้รับการตรวจจอตาอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันไม่ให้ตาบอดครับ และผู้ที่อายุเกิน 40 ปีไปแล้ว ควรได้รับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำเพื่อให้รู้ว่าเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีประวัติญาติทางสายเลือด(เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง ปู่ ย่า ตา ยาย) ป่วยเป็นเบาหวาน

อ่านเพิ่มเติม “รวมคำถาม เบาหวานขึ้นตา”

 

นอนตะแคงดูโทรทัศน์ ทำให้สายตาเอียงได้…..???

ไม่จริงครับ สายตาเอียงส่วนใหญ่เกิดจากกระจกตาที่มีความโค้งในแต่ละแนวไม่เท่ากัน (กระจกตาควรมีความโค้งทุกแนวเท่ากันดังเช่นลูกบอล แต่ถ้ามีความโค้งไม่เท่ากันทุกแนวจะเปรียบได้รับลูกรักบี้) ซึ่งการนอนตะแคงดูโทรทัศน์หรือเขียนหนังสือไม่ได้ทำให้ความโค้งกระจกตาเปลี่ยนแปลงแต่อย่างไร จึงไม่ทำให้สายตาเอียง

อ่านเพิ่มเติม “รวมคำถาม สายตาเอียง”

 

เด็กตาเข ไม่ต้องไปหาหมอ โตขึ้นมาจะหายเองได้…..???

ไม่จริงครับ ควรพาเด็กตาเขไปหาจักษุแพทย์หรือนักทัศนมาตรโดยเร็วที่สุด เนื่องจากถ้าปล่อยทิ้งไว้จนโตอาจทำให้เด็กมีปัญหาตาขี้เกียจ(ตาไม่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนได้) โดยตาเขก็ยังคงอยู่ การพาเด็กไปตรวจตาจะทำให้ทราบถึงปัญหาและสามารถแก้ไขเด็กให้ตาหายเหล่ได้ ตาเหล่มีหลายชนิด บางชนิดสามารถแก้ไขได้โดยแว่นตา บางชนิดต้องใช้การผ่าตัด หรือบางชนิดต้องใช้ทั้งสองอย่างร่วมกับการฝึกกล้ามเนื้อตา การปิดตา ฯลฯ เพื่อทำให้เด็กมีการมองเห็นที่ดีขึ้น ตาหายเหล่ และสามารถใช้งานทั้งสองตาร่วมกันได้ครับ