อาหารบำรุงสายตา[AT039]

อาหารบำรุงสายตา

สารอาหารบำรุงสายตามีอะไรบ้าง และแต่ละชนิดมีคุณสมบัติอย่างไรต่อดวงตา สารแต่ละอย่างมีในอาหารประเภทใดบ้าง….???

เท่าที่รวบรวมได้มีดังนี้ครับ

  • วิตามินเอ วิตามินเอเป็นสารสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับดวงตาเนื่องจากมันเป็นสารตั้งต้นของ เรตินาล (Retinal) สารสำคัญในเซลล์รับแสง(Photoreceptor) ของดวงตา วิตามินเอมีมากในอาหารเช่น ตับ ใบยอ มันฝรั่ง แครอท มะม่วง ผักโขม นม ไข่แดง ฯลฯ อย่างไรก็ดี แม้ว่าท่านกินอาหารที่มีวิตามินเอมากท่านก็อาจขาดวิตามินเอได้ถ้าท่านไม่ได้บริโภคไขมันเนื่องจากวิตามินเอละลายในไขมันนั่นเอง หรือบางคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับการดูดซึมไขมันก็อาจมีปัญหาขาดวิตามินเอได้เช่นกัน การขาดสังกะสีก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ขาดวิตามินเอเนื่องจากสังกะสีเป็นธาตุสำคัญในการดูดซึมและขนส่งวิตามินเอ การขาดวิตามินเอจะทำให้เซลล์รับแสงทำงานไม่ได้ทำให้เกิดภาวะตาบอดกลางคืนตามมา การขาดวิตามินเอในวัยเด็กอย่างรุนแรงสามารถทำให้ตาบอดได้อย่างถาวร คาดว่าในแต่ละปีมีเด็กกว่าสองแสนคนในประเทศกำลังพัฒนาที่ตาบอดเนื่องจากการขาดวิตามินเอ นอกจากนั้นการขาดวิตามินเอยังอาจทำให้เป็น Xerophthalmia ซึ่งมีอาการคือตาแห้งที่เยื่อบุตาขาว ถ้ารุนแรงกว่านั้นอาจทำให้เยื่อบุตาขาวเปลี่ยนสภาพเป็นเยื่อที่ผลิตเคราตินซึ่งจะทำให้ตาแห้งมากขึ้น และตาที่แห้งมากอาจทำให้กระจกตามีปัญหาและตาบอดได้ในที่สุด การกินวิตามินเอมากเกินไปในหญิงมีครรภ์อาจทำให้ทารกมีการผิดปกติได้
  • เบต้าแคโรทีน เป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ กล่าวคือตัวมันถูกร่างกายเปลี่ยนเป็นวิตามินเอได้หลังจากถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย มีมากในผักผลไม้ที่มีสีส้มหรือสีเหลืองเช่น แครอท มะม่วง มะละกอ ฟักทอง ส้ม ผักโขม เบต้าแคโรทีนยังมีมากในน้ำมันปาล์มดิบแต่จะถูกสกัดออกจากน้ำมันปาล์มเพื่อให้ได้น้ำมันที่ใสและสีอ่อน การรับประทานอาหารประเภทที่มีเบต้าแคโรทีนสูง จะมีคุณสมบัติทางบำรุงสายตาเช่นเดียวกันกับวิตามินเอ นอกจากนั้นอาการขาดเบต้าแคโรทีนก็เหมือนกับการขาดวิตามินเอด้วย
  • ลูทีน เป็นสารธรรมชาติจัดอยุ่ในกลุ่มของสารรงควัตถุที่มีสีในตระกูลของสารแคโรทีนอยด์ แต่มีความแตกต่างจากคาโรทีนอยด์ชนิดอื่นตรงที่จะไม่เปลี่ยนไปเป็นวิตามินเอ พบมากในผักสีเขียว ไข่ไก่ ไขมันสัตว์ สำหรับคนปกติถ้ามีการบริโภคผักและผลไม้เป็นประจำมักจะไม่ขาดสารอาหารชนิดนี้ ลูทีนพบมากในจอตาในส่วนอื่นที่ไม่ใช่ Macular คือส่วนริมๆทั้งหมดของจอตา หน้าที่ของมันคือป้องกันการเกิดอ๊อกซิเดชั่นและป้องกันดวงตาจากแสงสีน้ำเงินม่วงที่มีพลังงานสูง จากงานวิจัยพบว่าการกินลูทีนทำให้มี Macular Pigment มากขึ้น และการมี Macular Pigment มากทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดจอตาเสื่อม(Age-Related Macular Degeneration, AMD)น้อยลง มีรายงานว่าการรับประทานลูทีนและซีแซนทีนทำให้อาการแพ้แสงลดลง นอกจากนั้นบางงานวิจัยยังระบุว่าลูทีนช่วยชลอการเป็นโรคต้อกระจกสำหรับผู้สูงอายุด้วย อย่างไรก็ดีคนบางกลุ่มเช่นเด็ก ออทิซึมควรรับประทานอาหารที่ไม่มีลูทีน
  • ซีแซนทีน เป็นสารที่มีโครงสร้างโมเลกุลคล้ายลูทีน มีงานวิจัยหลายชิ้นพยายามเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างซีแซนทีนกับการป้องกันโรคจอตาเสื่อมแต่ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัด อย่างไรก็ดีสำหรับผู้ที่สูบบุหรี่จัดหรือขาดสารอาหาร การบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซีแซนทีนอาจช่วยทำให้ยับยั้งการเกิดจอตาเสื่อมและต้อกระจกได้ ซีแซนทีนพบมากในผักผลไม้สีเหลืองและเขียวเช่น พริกหยวก ข้าวโพด ไข่ บร๊อคโคลี่ ลูกกีวี่ ฯลฯ
  • โอเมก้า 3 เป็นกรดอมิโนชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างพัฒนาการของตาและสมอง มีมากในปลาที่อาศัยอยู่ในน้ำที่มีอุณหภูมิค่อนข้างเย็นเช่นปลาแซลมอน ปลาเฮอริ่ง ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีนไข่ไก่ที่มีโอเมก้า3(ได้จากการเลี้ยงแม่ไก่ด้วยอาหารที่มีโอเมก้า3) เป็นต้น สารEPA และ DHA ที่เติมลงในนมผงสำหรับทารกก็เป็นโอเมก้า 3 ชนิดหนึ่งเช่นกัน