ทดสอบตาเขซ่อนเร้นระยะใกล้เบื้องต้นด้วยตนเอง[AT052]

ทดสอบตาเขซ่อนเร้นระยะใกล้ด้วยตนเอง

ข้อแนะนำ ก่อนการทดสอบตาเขซ่อนเร้น ท่านควรทดสอบตาเขก่อนทุกครั้ง ถ้าท่านเป็นตาเขแล้วไม่ต้องทดสอบตาเขซ่อนเร้นอีกเนื่องจากทั้งสองอย่างจะไม่เกิดพร้อมกัน ถ้าท่านไม่เป็นตาเขจึงทำการทดสอบตาเขซ่อนเร้นต่อได้

ทดสอบตาเขซ่อนเร้นระยะใกล้

1.หาเป้ามอง อาจเลือกจุดเล็กๆที่ระดับสายตาห่างจากตัวประมาณ 40 เซนติเมตร ขนาดของจุดประมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียวโดยประมาณ ลักษณะจุดที่มองควรตัดกับสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน ใช้จุดดังกล่าวเป็นเป้ามองในการทดสอบ

2.ลืมตาทั้งสองข้างและมองไปที่เป้า (ถ้ามีแว่นสายตามองใกล้ให้ใส่แว่นตาด้วย) ผู้ทดสอบต้องมองเห็นเป้าได้ชัดเจนจึงทำการทดสอบต่อได้ ถ้ามองเห็นเป้าที่ใช้มองแยกออกเป็นสองภาพ(ซึ่งจริงๆแล้วมีเป้าอันเดียว) แสดงว่าคุณน่าจะตาเข ถ้ามองเห็นเป้าเป็นภาพเดียว ให้ทำการทดสอบข้อต่อไป

3.ใช้มือขวาบังตาขวาโดยไม่ให้มือแตะถูกหนังตา เลื่อนมือไปมาเพื่อปิดตาซ้ายสลับกับการปิดตาขวาโดยใช้เวลาสำหรับการปิดตาแต่ละข้างประมาณ 3-5 วินาที  ระหว่างที่เลื่อนมือเพื่อปิดตาให้สังเกตว่าเป้าที่มองอยู่ยังคงอยู่นิ่งๆหรือมีการขยับระหว่างการปิดตาสลับข้าง

  •      ถ้าสังเกตเห็นเป้าอยู่นิ่งๆ ไม่มีการเคลื่อนที่ แสดงว่าท่านไม่มีตาเขซ่อนเร้น
  •      ถ้าสังเกตเห็นเป้ามีการเคลื่อนที่ทุกครั้งเมื่อสลับมือปิดตา แสดงว่าท่านมีตาเขซ่อนเร้น โดยเป้าที่เคลื่อนที่ระหว่างการปิดตา อาจเคลื่อนในทิศทางซ้าย-ขวา บน-ล่าง หรือเฉียงๆก็ได้ ซึ่งการเคลื่อนที่ในทิศทางที่ต่างกัน แสดงให้เห็นถึงชนิดของตาเขซ่อนเร้นที่แตกต่างกันด้วย

หมายเหตุ

  • การตรวจนี้เป็นวิธีการตรวจด้วยตนเองอย่างง่ายๆ ไม่ใช่คำวินิจฉัยว่าท่านมีตาเขซ่อนเร้นจริงๆ ถ้าท่านต้องการตรวจให้แน่ชัดว่ามีอาการตาเขซ่อนเร้นจริงหรือไม่ ควรไปพบจักษุแพทย์หรือนักทัศนมาตรเพื่อทำการตรวจอย่างละเอียด(ที่ร้านหมอแว่นมีบริการตรวจตาเหล่และตาเหล่ซ่อนเร้นให้แก่ลูกค้าทุกท่านฟรี)
  • ภาวะตาเขซ่อนเร้นในเด็ก อาจทำให้เด็กมีปัญหาตาเขตามมาได้ ถ้าบุตรหลานหรือนักเรียนของท่านมีอาการตาเขซ่อนเร้น ควรไปพบจักษุแพทย์หรือนักทัศนมาตรเพื่อรับคำปรึกษาและแก้ไข อนึ่งตาเขซ่อนเร้นอาจทำให้มีอาการตามัวหรือเห็นภาพซ้อนเป็นพักๆ ปวดตาหรือปวดหัวเวลาใช้สายตามากๆได้ โดยอาการดังกล่าวสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้โดยการใช้แว่นสายตาหรือเลนส์ปริซึมหรือทั้งสองอย่าง
  • ภาวะตาเขซ่อนเร้นในผู้ใหญ่ อาจทำให้มีอาการดวงตาอ่อนล้าง่ายโดยเฉพาะเมื่อต้องใช้สายตาติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้มีอาการตามัวหรือเห็นภาพซ้อนเป็นพักๆ ปวดตาหรือปวดหัวเวลาใช้สายตามากๆได้ โดยอาการดังกล่าวสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้โดยการใช้แว่นสายตาหรือเลนส์ปริซึมหรือทั้งสองอย่าง การใช้แว่นสายตาแก้ไขตาเขซ่อนเร้นจะทำให้ท่านสามารถใช้สายตาได้อย่างมีความสุขมากขึ้น
  • การปิดตาแต่ละข้างแล้วสังเกตเห็นว่าตาสองข้างมีการมองเห็นที่ต่างกัน ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง ไม่ควรตกใจ อย่างไรก็ดีท่านควรไปรับการตรวจตาเพื่อหาสาเหตุ ตัวอย่างของสาเหตุที่ทำให้ตาสองข้างเห็นชัดไม่เท่ากันเช่น สายตาสองข้างไม่เท่ากัน ตาขี้เกียจ ต้อกระจก จอตาเสื่อม ฯลฯ