อันตรายจากรังสียูวี[AT038]

อันตรายจากรังสียูวี

จำเป็นไหมที่ต้องใส่แว่นตากันแดดเมื่ออยู่กลางแจ้ง……???

แนะนำให้ใส่ครับ เพื่อปกป้องดวงตาจากรังสียูวีที่เป็นอันตรายต่อดวงตา

รังสียูวีอันตรายต่อดวงตาอย่างไร

รังสียูวีเป็นอันตรายทั้งต่อผิวหนังและดวงตาของเรา การตากแดดมาก(คือได้รับรังสียูวีมาก) นอกจากจะทำให้ผิวหนังคล้ำ ไหม้ หรือเป็นมะเร็งผิวหนังได้แล้ว ก็ยังทำอันตรายต่อดวงตาของเราได้อีกด้วย ความเสียหายของดวงตาเนื่องจากรังสียูวีอาจแบ่งออกเป็น

1 ผลจากรังสียูวีระยะสั้น ถ้าได้รับรังสียูวีที่มีความเข้มสูงหรือได้รับเป็นเวลานาน ในระยะสั้น(คือรู้สึกได้เลยในวันนั้นที่ได้รับรังสียูวี) อาจทำให้เกิด

  • กระจกตาอักเสบเนื่องจากรังสียูวี (Photokeratitis) เกิดได้จากการที่ได้รับรังสียูวีที่มีความเข้มสูง เช่นการจ้องแสงจากการเชื่อมโลหะ การเล่นสกีหรือปีนเขาในวันที่แดดจัดโดยไม่ได้ป้องกัน เนื่องจากรังสียูวีที่สะท้อนจากหิมะและการรับรังสีโดยตรงจากดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดอาการแสบตา น้ำตาไหล แพ้แสง และตาแดงได้ (คล้ายกับการตากแดดทั้งวันทำให้ผิวไหม้ แต่นี่เป็นผิวกระจกตาไหม้ที่สร้างความเจ็บปวดยิ่งกว่า)

2 ผลจากรังสียูวีระยะยาว การได้รับรังสียูวีในระยะยาวส่งผลต่อดวงตาและผิวรอบดวงตาหลายอย่างเช่น

  • ต้อลม (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน  “รวมคำถามต้อลม”  (อยู่ระหว่างการปรับปรุง)
  • ต้อเนื้อ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน “รวมคำถามต้อเนื้อ”  (อยู่ระหว่างการปรับปรุง)
  • ต้อกระจก (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน “รวมคำถามต้อกระจก”  (อยู่ะหว่างการปรับปรุง)
  • จอตาเสื่อม (Age-Related Macular Degeneration)  (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน “รวมคำถามจอตาเสื่อม” http://doctorvision.net/2012-01-23-15-41-20/2012-01-23-15-44-19/424-faq-

เมื่อรู้อย่างนี้แล้วไม่ควรนิ่งนอนใจ ป้องกันดวงตาของท่านจากรังสียูวีวันนี้ เพื่อสุขภาพตาที่ดีตลอดไปครับ

  • ผิวหนังไหม้เนื่องจากรังสียูวี
  • มะเร็งผิวหนังชนิด Basal cell carcinoma
  • มะเร็งผิวหนังชนิด Squamous cell carcinoma
  • มะเร็งเม็ดสี Melanoma

รังสียูวีคืออะไร ทำไมถึงน่ากลัวจัง……???

รังสียูวี(UV Radiation) ย่อมาจาก Ultra Violet แปลเป็นภาษาไทยตรงๆว่ารังสีเหนือม่วง รังสียูวีเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดหนึ่งเช่นเดียวกันกับแสงสีต่างๆที่เราเห็น แต่รังสียูวีมีความถี่สูงกว่าแสงที่เราเห็นดังนั้นจึงมีพลังงานมากกว่าและสามารถทำอันตรายต่อผิวหนังและดวงตาของเราได้ถ้า อย่างไรก็ดีรังสียูวีก็มีมุมที่เป็นประโยชน์เหมือนกัน โดยรังสียูวีความเข้มต่ำๆมีประโยชน์ต่อร่างกายในการสร้างวิตามิน D และรังสียูวีความเข้มสูงในแสงแดดยังช่วยฆ่าเชื้อโรคหลายชนิดด้วย รังสียูวีเองยังแบ่งแยกย่อยออกเป็น 3 ชนิดดังนี้

UVA คือรังสียูวีช่วงความยาวคลื่น 315-400 นาโนเมตร มีความยาวคลื่นใกล้เคียงกับแสงสีม่วงที่สุด ถือเป็นรังสียูวีที่มีอันตรายน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับชนิดอื่น แต่ก็เป็นรังสียูวีที่ลงสู่พื้นโลกมากที่สุดเช่นกันเนื่องจากแทบไม่ถูกดูดซับโดยบรรยากาศโลก กระจกส่วนใหญ่ไม่กัน UVA แต่จะกัน UVB เพียงบางส่วน UVA ทำให้ผิวคล้ำและมีผลเสียต่อดวงตาบ้างแต่น้อยกว่า UVB

  • UVB คือรังสียูวีช่วงความยาวคลื่น 280-315 นาโนเมตร มีพลังงานสูงกว่า UVA และสามารถทำลายโมเลกุลของ DNA ก่อให้เกิดผิวไหม้และมะเร็งผิวหนังได้ ครีมทาผิวป้องกันแสงแดดส่วนใหญ่จึงเน้นป้องกัน UVB เป็นหลัก UVB ที่มีความเข้มสูงยังทำอันตรายต่อดวงตาทำให้เกิด กระจกตาอักเสบเนื่องจากแสง(Photokeratitis)ได้ การได้รับ UVB ระยะยาวยังก่อให้เกิดต้อลม ต้อเนื้อ ต้อกระจกชนิดCortical และจอตาเสื่อมด้วย UVB ส่วนใหญ่ถูกดูดซับโดยบรรยากาศโลกแต่ก็ยังมีบางส่วนที่หลุดรอดมาถึงพื้นโลกได้
  • UVC คือรังสียูวีช่วงความยาวคลื่น 100-280 นาโนเมตร ในอดีต UVC ทั้งหมดถูกดูดซับด้วยชั้นโอโซน แต่ในปัจจุบันบรรยากาศชั้นโอโซนบางลงและบางแห่งมีรูโหว่ ทำให้มีรังสี UVC เล็ดรอดมาถึงผิวโลกได้มากขึ้น

2 รูปแสดงรังสียูวีและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดต่างๆ

รังสียูวีมีในแสงแดดอย่างเดียวหรือไม่…….???

แสงแดดมีรังสียูวีสูงแต่แหล่งกำเนิดแสงสว่างที่เราใช้ก็ปลดปล่อยรังสียูวีออกมาเหมือนกัน แต่ปล่อยออกมาในปริมาณต่ำจึงไม่ค่อยมีอันตรายต่อร่างกายนัก

ในวันที่มีเมฆมาก ออกไปกลางแจ้งแล้วไม่รู้สึกร้อน แสดงว่าไม่มีรังสียูวีจริงหรือไม่……..???

ไม่จริงครับ วันที่มีเมฆมากก็มีรังสียูวีได้ จำไว้เลยครับ รังสียูวีทำให้ผิวดำและไหม้แต่รังสีอินฟาเรดทำให้รู้สึกร้อน โดยรังสียูวีนอกจากเป็นรังสีที่เรามองไม่เห็นแล้ว ยังไม่ทำให้รู้สึกร้อนด้วย รังสีที่ทำให้รู้สึกร้อนคือรังสีอินฟราเรด ดังนั้นเมื่อเราออกไปกลางแจ้งในวันที่มีเมฆมาก ถ้าท่านไม่รู้สึกร้อน(แสดงว่ารังสีอินฟาเรดถูกเมฆบังไว้)แต่ท่านจะได้รับรังสียูวีไปเต็มๆ และจะสังเกตุได้ว่าแม้วันที่มีเมฆมาก เมื่อออกไปตากแดดเป็นเวลานานก็ทำให้ผิวคล้ำหรือไหม้ได้

การทำงานอยู่ในอาคาร มีโอกาสได้รับรังสียูวีหรือไม่……???

การทำงานในอาคาร ถ้ามีหน้าต่างหรือกระจกที่แสงแดดสามารถส่องเข้ามาได้ ท่านก็จะได้รับรังสียูวีด้วย เนื่องจากกระจกทั่วไปที่ไม่มีฟิล์มกันรังสียูวีมักจะป้องกันยูวีในช่วงความยาวคลื่น 300-400 นาโนเมตรได้ไม่ดีนัก(ช่วงUVA และ UVB บางส่วน) และแม้ว่าท่านจะไม่ได้ถูกแสงแดดส่องโดยตรง แต่แสงสะท้อนจากแสงแดดก็มีรังสียูวีเช่นเดียวกัน นอกจากแสงแดดที่เป็นแหล่งยูวีที่สำคัญแล้ว อุปกรณ์ไฟฟ้าแทบทุกชนิดที่มีแสงออกมาเช่น หลอดไฟฟ้า จอคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ก็ปลดปล่อยรังสียูวีความเข้มต่ำออกมาเหมือนกัน ดังนั้นแม้ท่านทำงานในอาคารท่านก็ยังได้รับรังสียูวีเช่นเดียวกัน แต่เป็นระดับความเข้มต่ำกว่าออกไปตากแดดนอกอาคารโดยตรง