บุคลากรที่เกี่ยวข้องทางด้านสายตา[AT013]

บุคลากรที่เกี่ยวข้องทางด้านสายตา

ในปัจจุบัน มีบุคลากรหลากหลายที่ทำหน้าที่ให้บริการเกี่ยวกับสุขภาพตา (Eye Care Practitioner) ซึ่งบุคลากรในทุกระดับล้วนมีความสำคัญที่จะเสริมสร้างสุขภาพตาและสายตาแก่ประชาชน อย่างไรก็ดี บุคลากรแต่ละกลุ่มจะมีหน้าที่ความรับผิดชอบซึ่งแตกต่างกันหรือเหมือนกันในบางส่วน ผู้เขียนจึงมีความประสงค์ที่จะทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องของประชาชน เพื่อทำให้เกิดความสะดวกและทราบว่า ควรไปพบใครเมื่อตนมีปัญหาที่เกี่ยวกับดวงตา

1.จักษุแพทย์ (หมอตา )

วุฒิการศึกษา : จบการศึกษาแพทย์ศาสตร์บัณฑิต(Doctor of Medicine, MD) และต่อเฉพาะทางสาขาวิชาจักษุวิทยา(ขณะที่เรียนอยู่ เรียกว่าแพทย์ประจำบ้านหรือResident)เป็นระยะเวลา 3 ปี สำหรับจักษุแพทย์เชี่ยวชาญพิเศษ(Fellowship )ต้องต่ออีก 1-2 ปี(เช่น จักษุแพทย์เชี่ยวชาญสาขาโรคต้อหิน สาขากระจกตา สาขาตาเด็กและกล้ามเนื้อตา ฯลฯ)

หน้าที่หลัก     : รักษาโรคตา ทั้งด้วยการใช้ยาและการผ่าตัด

ข้อควรรู้         : ปัจจุบัน จักษุแพทย์ถือเป็นแพทย์สาขาขาดแคลนแขนงหนึ่ง โดยในบางจังหวัดที่ห่างไกลหรือประชากรน้อยอาจไม่มีจักษุแพทย์ประจำ จากการที่มีจำนวนคนไข้มากกว่าที่สามารถตรวจได้ในแต่ละวัน ทำให้เวลาที่จักษุแพทย์ให้ต่อคนไข้ 1 คน ค่อนข้างจำกัด

2.นักทัศนมาตร ( OD, โอดี , หมอสายตา)

วุฒิการศึกษา : จบการศึกษาทัศนมาตรศาสตร์บัณฑิต(Doctor of Optometry, OD) อาจศึกษาต่อทางคลินิกให้มีความเชี่ยวชาญพิเศษเช่น สาขาสายตาเด็ก สาขาสายตาผู้สูงวัย สาขาเลนส์สัมผัสและกระจกตา ฯลฯ

หน้าที่            : แก้ไขปัญหาสายตาและการมองเห็น โดยแว่นตา ปริซึม เลนส์สัมผัส(คอนแทคเลนส์) ทำ Visual Training เพื่อแก้ไขปัญหาการมองเห็น โดยสามารถใช้ยาบางชนิดเพื่อการตรวจวินิจฉัยได้แต่ไม่จ่ายยาและไม่ผ่าตัด คัดกรองโรคเพื่อส่งต่อไปยังจักษุแพทย์หรือแพทย์สาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง ทำงานร่วมกับแพทย์ในโรงพยาบาล ในคลินิกโรคตา ศูนย์เลสิก หรือร้านแว่นตา ฯลฯ

ข้อควรรู้         : เป็นสาขาขาดแคลนอีกสาขาหนึ่ง ปัจจุบันในประเทศไทยมีการเปิดสอนหลักสูตรนี้ 3 แห่งคือ 1)  สถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เริ่มสอนปี 2545โดยความร่วมมือกับ School of Optometry, Indiana University, USA และราชวิทยาลัยจักษุแพทย์   2) คณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เริ่มแรกเปิดหลักสูตร 4 ปี แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นหลักสูตร 6 ปีในปี พ.ศ. 2555  3) ภาควิชาทัศนมาตรศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เริ่มเปิดสอนหลักสูตร 6 ปี ในปี พ.ศ. 2555  ในปัจจุบัน ผู้จบการศึกษาสาขาทัศนมาตรศาสตร์ สามารถสอบเพื่อให้ได้หนังสืออนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะโดยอาศัยทัศนมาตรศาสตร์ได้

3.พนักงานวัดสายตา ช่างแว่นตา(Refractionist, Optician)

วุฒิการศึกษา     : มีทั้งแบบไม่มีวุฒิ คือศึกษาจากการสอนหรือถ่ายทอดกันเองจากพนักงานวัดสายตาที่มีประสบการณ์ และมีวุฒิ โดยสถาบันที่เปิดสอนเช่นวิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง หลักสูตรช่างเทคนิคแว่นตาและเลนส์(ปวช, ปวส) โรงเรียนส่งเสริมวิชาการแว่นตาไทย(ประกาศนียบัตร ของโรงเรียนส่งเสริมวิชากรแว่นตา) ซึ่งทั้งสองหลักสูตรนี้ รับรองโดยกระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนั้นยังมีหลักสูตรที่เปิดอบรมโดยบริษัทผู้ขายเลนส์แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ หรือการอบรมภายในของร้านแว่นตาแต่ละแห่ง

หน้าที่            : วัดสายตา ประกอบแว่น

ข้อควรรู้         :ในประเทศไทย ยังไม่มีกฏหมายเพื่อควบคุมมาตรฐานของ Optician ทำให้มีความหลากหลายของมาตรฐานการบริการและความเชี่ยวชาญ(ในบางประเทศ มีกฏหมายบังคับให้ผู้ที่ต้องการทำหน้าที่วัดสายตา ต้องผ่านการสอบใบอนุญาตที่รัฐบาลจัดขึ้น เพื่อให้การวัดสายตาประกอบแว่นมีมาตรฐาน )

4.พนักงานขายแว่นตา

วุฒิการศึกษา     : ไม่จำกัด อาจมีการอบรมระยะสั้น หรือการสอนกันเองจากพนักงานที่มีประสบการณ์ เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับการขายแว่นตา และการเลือกกรอบแว่นตา

หน้าที่            : ช่วยเลือกกรอบแว่นตา ขายกรอบแว่นตา

ข้อควรรู้         : อนึ่ง วุฒิที่กล่าวถึงเป็นการกล่าวแบบโดยรวม ซึ่งไม่รวมถึงการหาความรู้เพิ่มเติม เช่นการอบรม หลักสูตรระยะสั้น หรือประสบการณ์การทำงานซึ่งมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคค

สรุป

  •        ถ้าแน่ใจว่าตนเองเป็นโรคตา ควรไปพบจักษุแพทย์
  •        ถ้าคิดว่าเป็นปัญหาสายตา ควรไปพบนักทัศนมาตรหรือร้านแว่นทั่วไป
  •        ถ้าไม่แน่ใจว่าเป็นปัญหาสายตาหรือโรคตา หรือมีปัญหาสายตาที่ร้านทั่วไปแก้ไขให้ไม่ได้ ควรไปพบนักทัศนมาตร